สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนก.ย. 64 พบว่ามีโรงแรม 51% ยังเปิดกิจการปกติ เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 64 ที่ 48% จากโรงแรมในจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ ที่กลับมาเปิดกิจการมากขึ้นเป็นสำคัญ ที่เหลือ 35% เปิดกิจการเพียงบางส่วน และอีก 14% ยังปิดกิจการชั่วคราว โดยสาเหตุที่ยังไม่กลับมาเปิดกิจการปกติ เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งต้นทุนในการเปิดดำเนินการ เช่น ค่าสาธารณูปโภค และค่าจ้างพนักงาน อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวกว่าครึ่งหนึ่งคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 64
ขณะเดียวกันโรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่มีรายได้กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 แต่มีโรงแรมเพียง 18% ที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่ง สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 64 อยู่ที่ 15.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ส.ค. 64 ที่ 10.6% โดยเพิ่มขึ้นมากในโรงแรมที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง ทำให้อัตราการเข้าพักในภาคกลางและภาคตะวันออกอยู่ในระดับสูงสุดที่ 20% นอกจากนี้โรงแรมส่วนใหญ่คาดว่าอัตราการเข้าพักในเดือน ต.ค. 64 จะทรงตัวจากเดือนปัจจุบันที่ 16%
ในด้านสภาพคล่องพบว่าโรงแรมส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือน ส.ค. 64 และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน อย่างไรก็ดี มีกลุ่มที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 10% เกือบทั้งหมดเป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเดือน ก.ย. 64 สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 15% และรับลูกค้าที่เข้าพักระยะยาวเป็นสำคัญ ขณะที่การจ้างงานเฉลี่ยก็ทรงตัวจากเดือน ส.ค. 64 ที่ 54% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19 โดยโรงแรมในภาคกลางมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ที่มีอัตราการเข้าพักสูงขึ้นจากเดือนก่อนเป็นสำคัญ รวมถึงพนักงานโรงแรมได้รับวัคซีนแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 82% เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 64 ที่ 74% โดยภาคใต้ยังคงมีสัดส่วนพนักงานที่ฉีดวัคซีนแล้วสูงสุดที่ 94%
สำหรับการบริหารจัดการพนักงาน ส่วนใหญ่ยังมีการให้ใช้วันลาประจำปี leave without pay สลับกันมาทำงาน ลดเงินเดือน และลดชั่วโมงการทำงาน สำหรับโรงแรมที่มีการเพิ่มจำนวนพนักงาน และเพิ่มชั่วโมงการทำงานนั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคกลางและภาคใต้ที่มีอัตราการเข้าพักค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีการบริหารจัดการพนักงานด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานโดยรวม อาทิ การลดเงินเดือน และให้สลับกันมาทำงาน
มาตรการช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ ไม่ต่างจากการสำรวจรอบก่อน โดยโรงแรมส่วนใหญ่ต้องการให้สนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment) และพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย มาเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนให้เร็วกว่าแผน ด้านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีปัญหาเรื่องความชัดเจนของสถาบันการเงินในการให้เข้าร่วมโครงการมากที่สุด ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูฯ ส่วนใหญ่มีอุปสรรคเรื่องวงเงินสินเชื่อที่ได้รับไม่เพียงพอ อีกทั้งมองว่าสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลูกหนี้ใหม่
ในด้านการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์นั้นโรงแรมกว่า 71% มองว่าผลของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ออัตราการเข้าพักในเดือน ก.ย. 64 แย่กว่าที่คาด เนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง การเดินทางในประเทศที่ไม่สะดวก การปิดแหล่งท่องเที่ยว/สถานบันเทิง การแพร่ระบาดในพื้นที่ที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการที่ประเทศต้นทางปรับสถานะประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงสูง (สีแดง)
ทั้งยังได้คาดการณ์การกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านและท่องเที่ยวตามปกติว่าส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 65 นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจถึงโอกาสในการขายกิจการ ซึ่งพบว่าโรงแรม 48% ยังไม่พิจารณาขายกิจการ อย่างไรก็ตาม กว่า 43% ยังไม่ตัดสินใจว่าจะขายหรือไม่ และ 10% ได้ตัดสินใจขายกิจการแล้ว โดยโรงแรมที่ประกาศขายแล้วหรืออยู่ระหว่างเจรจากับผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวหลักของแต่ละภาค และเป็นโรงแรม midscale ขนาดกลางที่มีจำนวนห้องพัก 51-249 ห้อง
สำหรับมาตรการที่ภาครัฐประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน และประกาศแผนทยอยเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ รวมถึงโรดแมปฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย ที่จะเปิด 2 โครงการ ได้แก่ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” ทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมและภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีความหวังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ยังเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งควรจะจัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มให้สอดคล้องกับปัญหาและได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยสามารถให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินที่ง่ายมากขึ้น สมาคมฯ ยังมุ่งหวังขอให้ภาครัฐ ดำเนินนโยบายที่มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางธุรกิจมากขึ้นและบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทย พลิกฟื้นโค้งสุดท้ายของปีนี้เดินต่อไปได้
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,721 วันที่ 10 -13 ตุลาคม พ.ศ. 2564