“ตลาดกัญชา” ในประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตจนมีมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2567 จากปัจจุบันที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้ กัญชาและกัญชง รวมทั้งสมุนไพรไทย อาทิ ฟ้าทะลายโจร ขิง และกระชายขาว ที่น่าจับตามองอย่างมากในช่วงการระบาดโควิด-19 ให้เป็น Product Champions เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ในงาน The Global Medical Cannabis and Herbs Forum ครั้งที่ 1 ว่า ปัจจุบันเทรนด์ของโลกกำลังเข้าสู่การลดใช้ยาปฏิชีวนะหรือลดการใช้เคมีไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนใน Green Medicine ซึ่งประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีต้นทุนในเรื่องของคลังยาสีเขียว เพราะมีความได้เปรียบของสมุนไพรไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ กัญชงและกระท่อมเป็น product champions เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
“เรามีแผนปักหมุดศูนย์กลางสมุนไพรไทย กัญชาและกัญชงในภาคอีสาน โดยใช้เป็นภูมิภาคนำร่องเส้นทางท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพและเส้นทางของกัญชา กัญชง ผ่านความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนต่างๆ เพื่อทำให้เมื่อคิดถึงประเทศไทยแล้วนึกถึงสมุนไพรไทย และทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญในการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ”
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การแพทย์แผนไทยร่วมสมัย “พท.ป.ทรงกลด วัฒนพรชัย” ในฐานะอุปนายกสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์แห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ธุรกิจที่ร้อนแรงในขณะนี้คือ ธุรกิจสุขภาพไม่ว่าจะเป็น wellness การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหารผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงพืชเศรษฐกิจอย่างกัญชากัญชงและกระท่อม ดังนั้นหากธุรกิจที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวได้ผนวกกับศาสตร์การแพทย์แผนไทยในมิติใหม่ จะช่วยสร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ ผ่าน Modernize Thai medicine เพื่อเปลี่ยนเกมธุรกิจเดิมสู่ธุรกิจสุขภาพวิถีใหม่ ที่มีจุดขายที่แข็งแกร่งในตลาดโลก
ด้านศักยภาพทางการแข่งขันส่วนตัวมองว่าตลาดกัญชง กัญชา สามารถลงมาจับธุรกิจโลคอลได้ แบรนด์ใหญ่อาจเล่นโปรดักต์ที่จับตลาดคนทั่วไปและจำหน่ายผ่านร้านสะดวกต่างๆ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจเข้ามาใช้กัญชง กัญชาจริงๆจะลงไปถึงสินค้าและบริการโลคอลได้ ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวสายกัญชา
ส่วนภาคเอกชนก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจจากผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง กระท่อม รวมถึงพืชสมุนไพร โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยนางศิริญา เทพเจริญ ประธานบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WMA กล่าวว่า หลังจากไทยเริ่มมีการเปิดประเทศและโควิดเริ่มคลี่คลายแล้ว นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะเข้ามาในประเทศคือกลุ่มคนที่ต้องการเข้ามารักษาตัว และจุดแข็งของประเทศไทยก็คือ “กัญชา” ที่เพิ่งประกาศปลดล็อกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องสื่อสารออกไปให้คนในเอเชียหรือคนในโลกรับรู้เรื่องนี้และกัญชาน่าจะเป็นตัวที่เข้ามาช่วยเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้
“เชื่อว่าการลดการเกิดโรค ต้องใช้เวชศาสตร์ชะลอวัยและประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถในการปลูกพืชเศรษฐกิจและสมุนไพร ทำให้เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ คิดทำ Green medicine เพราะวันนี้ประเทศไทยจะก้าวสู่เมืองที่เป็น medical hub เต็มรูปแบบโดยใช้ CBD ทั้งนี้บริษัทไม่ได้คิดถึงเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แต่หมายรวมไปถึงสุขภาพของคนไทย ถ้าคนไทยได้ใช้ยาราคาถูก ดังนั้นเราจึงต้องรีบปักหมุดประเทศไทยแล้วส่งเสริม GI ทุกจังหวัด เอาพืชทุกหน่วยออกมาเป็นรายได้ จุดนี้เรามองว่าจะทำให้เกษตรกรพ้นจากกับดักความยากจนได้ดี”
สำหรับแผนงานของเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ใน 3 ปีนี้ เฟสที่ 1 ในปีแรกบริษัทตั้งเป้าส่งสาร CBD ไปยังประเทศเป้าหมายคือญี่ปุ่นและเยอรมนีก่อนจะขยายต่อไปที่อเมริกาในอนาคต รวมทั้งการส่งออก Green Medicine ให้กับโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น และการส่งออกวัตถุดิบและสารสกัดจากขมิ้นเพื่อนำไปผลิตวิตามิน และIV Drip หรือ Vitamin Drip (IV) ในเยอรมนี พร้อมกับการส่งเสริมให้ผลิตในประเทศด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยสมุนไพรและกัญชา ส่วนเฟสที่ 2 บริษัทจะขับเคลื่อนและผลักดันให้ Green Medicine เป็นยาสามัญประจำบ้าน รวมถึงส่งเสริมให้ใช้ในโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด รวมทั้งขยายตลาดส่งออกไปในหลายๆ ประเทศด้วย
แผนงานต่อไปเราจะลงไปสำรวจว่าแต่ละจังหวัดมีสมุนไพร GI อะไรที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ลงไปในแต่ละชุมชน และเปิดแพลตฟอร์มใหม่ที่เป็น package สู่ชุมชน และไม่ใช่แค่ส่งเสริมปลูกแต่จะเอานักท่องเที่ยวไปเที่ยวเหมือนคนไปดื่มไวน์ที่ฝรั่งเศส ทำให้เกิดเศรษฐกิจไปถึงชาวบ้าน และเรายังเข้าไปสนับสนุนการจัดประกวด Miss tourism พร้อมกับตั้งโจทย์นางงามทั้ง 77 จังหวัดวางแผนหาพืช GI ของจังหวัดตัวเองอย่างน้อย 1 อย่างเพื่อสร้างรูทท่องเที่ยว 77 จังหวัดด้วยสมุนไพรกับกัญชา
สุดท้ายกำหนดเป้าหมาย 3 ปี คนไทยจะต้องได้ใช้ยา Green Medicineทุกครัวเรือนคล้ายกับยาสามัญประจำบ้าน และผลักดันให้โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งใช้Green Medicineรักษาคนไข้ ถ้าสามารถทำ Green Medcine สำเร็จจะทดแทนยานำเข้าได้ 90%
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,732 วันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564