กลายเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่น่าจับตามองสำหรับ “สมุนไพรไทย” อาทิเช่น ฟ้าทลายโจร ขิง และกระชายขาว ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะ สมุนไพร ที่มีฤทธิ์ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด รวมไปถึงพืชเศรษฐกิจตัวใหม่อย่างกัญชง กัญชา ที่โดดเด่นมาตั้งแต่ต้นปี หลังจากการปลดล็อกออกจากยาเสพย์ติด
ทำให้ กัญชง กัญชา กลายเป็นบลู โอเชียนที่น่าจับตา และถูกวางตัวให้เป็นแม่เหล็กในการฟื้นเศรษฐกิจในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ ผลิตภัณฑ์และบริการ รวมไปถึงเส้นทางท่องเที่ยว ที่คาดว่าสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยมหาศาล
ทั้งนี้ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ฉายภาพโอกาสและแนวทางการยกระดับสมุนไพรไทย และพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยเฉพาะในมุมของ Medical Tourism อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนโครงการ “Medical Hub” ตั้งแต่ปี 2547 เพราะอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยมีความโดดเด่นในเวทีโลก
จนกระทั่งปี 2556 ได้จัดงานMedical Expo ครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้ 4 ฐานด้วยกันคือ “Medica service hub” -“Wellness hub”- “Academic hub”และ “Product hub” หลังจากจบงานนี้มีผู้ใช้บริการต่างชาติเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย 1.2 ล้านครั้ง ซึ่งปีนั้น bloomberg จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นผู้ใช้บริการเป็นอันดับ 1 ของโลก
ถัดมาในปี 2559 ประเทศไทยมีกลไกในการขับเคลื่อนโดยพัฒนายุทธศาสตร์ “Medical Hub” และนำเข้าครม.ก่อนกำหนดยุทธศาสตร์ 7ยุทธศาสตร์ โดยนำร่องเรื่องของนวดไทยเข้าสู่กลไกในการที่จะเป็นวัฒนธรรมของโลกที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งภายหลังยูเนสโกช่วยผลักดันให้นวดไทยเป็นวัฒนธรรมของโลกที่จับต้องไม่ได้ฝั่งของบริการ
ส่งผลให้ในปี 2561 ไทยขยับจากผู้รับบริการชาวต่างชาติที่มาใช้บริการบ้านเราจาก 1.2 ล้านครั้งเป็น 3.4 ล้านครั้งหรือขยับขึ้นไป 3 เท่า นี่คือฝั่งของ “Medica service hub”
ส่วนในฝั่งที่เรียกว่า “Wellness hub”นั้น “นวดสปา” เข้าใจว่าในปี 2559 มีผู้ใช้บริการนวดไทยประมาณ 20.5 ล้านครั้ง มีการคาดการณ์ว่าในปี 2560 จะเพิ่มเป็น 25 ล้านครั้งแต่ตัวเลขกลับพุ่งเป็น 30 ล้านครั้งและขยับขึ้นเป็น40 ล้านครั้งในปี 2561นั่นแสดงว่าการยอมรับการบริการฝั่งของWellnessและMedica service hub จากต่างชาติค่อนข้างดี
“ นักท่องเที่ยว 70% จะเข้ามาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่บ้านเรา พอเจอน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 การท่องเที่ยวทางธรรมชาติหายไป แต่เปอร์เซ็นต์การท่องเที่ยวย้ายไปยังฝั่งของนวดสปาเป็นส่วนใหญ่ 70% ส่วนท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเหลือเพียง 20% ในตอนนั้นเราคาดว่าหลังจากน้ำลดลงเปอร์เซ็นต์นักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมคือเที่ยวธรรมชาติ 70 นวดสปา 20% แต่เราก็คาดการณ์ผิด
ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือ medical tourism เพิ่มขึ้นเป็น 50 % พอๆกับท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมนั่นแสดงว่าเทรนด์การท่องเที่ยวสมัยใหม่นับจากปี 2554 เป็นต้นมาเริ่มเข้าสู่กลไกการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
เพราะฉะนั้นเราคาดหวังว่าในเรื่องของ Medical service หรือเรื่องของWellnessจะเป็นที่ยอมรับและสร้างกลไกที่จะเป็นผู้นำตลาดในอนาคตถัดไป”
อีกประเด็นที่น่าจับตามองในช่วงนี้คือการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภายใต้ Concept Green Medicine ซึ่งภาครัฐและเอกชนมีความตื่นตัวและพยายามผลักดันในเกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปิดประเทศ โดยคาดหวังว่าGreen Medicine จะเป็นแม่เหล็กตัวใหม่ที่จะดึงดูดนักเที่ยวเข้ามา และพัฒนาประเทศไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มของการเป็นผู้นำด้านสุขภาพนานาชาติ
“ถ้าเราจะมีการขับเคลื่อนเส้นทางกัญชาทางการแพทย์ก็ดีหรือเส้นทางกัญชาเพื่อการท่องเที่ยวเหมือนเส้นทางสายไหมในอดีตก็ดี คิดว่าประเทศไทยน่าจะเป็นได้ด้วยศักยภาพที่เรามีกัญชาถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการปลดล็อคเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาเราอาจอ่อนแอในการขับเคลื่อน product เหล่านั้นให้เป็นที่ยอมรับภายใต้หลักกฏหมาย วันนี้เราเน้นไปที่กัญชาก่อนเพราะได้รับการปลดล็อคและเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคและทำให้สุขภาพดี
เพราะฉะนั้นผมเห็นชอบที่เราจะพัฒนาพื้นที่ต้นแบบที่ “มายโอโซนเขาใหญ่” ให้เป็นจุดปักหมุดหรือศูนย์กลาง Green Medicine เราคิดว่ากลไกในการขับเคลื่อนที่จะก่อให้เกิดผลในภาพส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ ซึ่งข้อมูลปรากฏชัดเจนจากศูนย์วิจัยกสิกรที่ระบุว่าหากนักท่องเที่ยวเข้ามารักษาพยาบาลที่บ้านเรามีค่าใช้ประมาณ100000บาท ในจำนวนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายผู้ป่วย 20,000 บาทและอีก 80,000 บาทจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับญาติที่มากิน มาเที่ยว มาพักโรงแรม
ถ้าเราผลักดันมูลค่าการรักษาพยาบาลเป็น 2 แสนล้านบาทและอีก8แสนล้านบาทให้เป็นเชิงส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับธรรมชาติ นวดสปาหรือแม้แต่อาหาร ต่อไปก็สร้างช่วยสร้างมูลค่าและเม็ดเงินให้ประเทศได้จำนวนมาก
ขณะเดียวกันเราต้องเพิ่มขีดศักยภาพผู้ประกอบการในการแข่งขันตามวิถีโลก เข้าใจว่าตอนนี้กัญชาน่าจะเป็นแม่เหล็กตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นผู้นำในการให้บริการสุขภาพของโลกต่อไป
ตอนนี้เรายอมรับว่าเรื่องของ medical service นั้นเราค่อนข้างที่จะดรอปลงเนื่องจากสถานการณ์ covid แต่เราก็มีการปลดล็อคให้มีการทำฮอทพิเทลคือนำผู้ป่วยต่างชาติมารักษาที่บ้านเราประมาณ 6000 กว่าคนและญาติประมาณ 2000คน เราสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยในช่วงนั้น 2 เดือนประมาณ 3พันกว่าล้านบาท
นอกจากนี้ยัง Golf quarantine เรามีนักกอล์ฟเข้ามาตีกอล์ฟในบ้านเราประมาณ 200 กว่าคนสร้างเม็ดเงิน 24 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมานั่นแสดงว่านักท่องเที่ยวเชิงเหล่านี้เป็นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและมีเม็ดเงินนำเข้าสู่ประเทศผ่านภาคบริการค่อนข้างเยอะพอสมควร
นอกจากเพิ่มขีดความสามารถแล้ว อีกเรื่องที่ต้องทำการเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยกัญชา กัญชงและพืชสมุนไพรภายใต้คอนเซ็ป Green Medicine Innovation ซึ่งเราคาดหวังว่าในอนาคตหลังจากนี้เราจะมีโพรดักดีๆที่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีวิจัยเรื่องพวกนี้เท่าไหร่แต่เราก็ยังเป็นที่หนึ่งของโลกที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในเรื่องของบริการทางการแพทย์แต่ถ้าเรามีผลวิจัยรองรับคิดว่าน่าจะเป็นกลไกที่สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับชาวต่างชาติได้ดีพอสมควร
และสุดท้ายเรามองว่าเส้นทางการท่องเที่ยวสุขภาพครบวงจรหรือการปักหมุดให้ประเทศเรานั้นเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้จะเป็นการเปิดประเทศเข้าสู่กลไกที่สำคัญ ผมเชื่อว่าเรือเดินสมุทรกัญชาถ้าจอดนิ่งในอ่าวก็จะปลอดภัย แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่ของกัญชาไทยจะต้องออกสู่โลกให้ประชาคมโลกได้ชื่นชมและสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง”