โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่านในโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 เมกะเทรนด์ใหญ่ “สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ต้องมีแกนหลักที่ชัดเจน เพื่อนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย ซึ่งนั่นก็คือ การขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แกนของ “ความยั่งยืน” (Sustainability)
ซีอีโอหญิงบ้านปู เล่าว่า บ้านปูได้นำเรื่อง Sustainability Policy มาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างยาวนานกว่า 20 ปี และมีการจัดตั้ง Sustainable Committee ขึ้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กร จนสร้างเป็น DNA ด้านความยั่งยืนให้กับคนบ้านปู ตั้งแต่ปี 2557 ดังนั้น การทำธุรกิจของบ้านปู การทำแผนงานต่างๆ จึงยึดหลักเรื่อง Sustainable มาตลอด ตั้งแต่ก่อนจะมีการบัญญัติศัพท์ ESG (Environment, Social, และ Governance) ไว้ในดิกชั่นนารี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใส ที่พัฒนามาเป็น Banpu Heart จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับวัฒนธรรมองค์กรของบ้านปู
ล่าสุด บ้านปูยังจัดตั้ง ESG Committee ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นเข็มทิศ และช่วยตรวจสอบ แนะนำ ให้ Sustainable Committee และทีมผู้บริหารการดำเนินงาน และการลงทุนธุรกิจในอนาคต เพื่อสร้างความบาลานซ์และความเหมาะสมที่สุด ให้กับองค์กร และผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder)
“สมฤดี” อธิบายอีกว่า การสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งธุรกิจของบ้านปู ได้ต่อยอดจากแรงบันดาลใจในการผลักดัน Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในการสร้างความยั่งยืน รวมถึงการช่วยลดผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19
2. เชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) สร้างความยั่งยืนและลดผลกระทบเชิงลบ 3. ชูประเด็น ‘S’ (Social-สังคม) และ ‘G’ (Governance-บรรษัทภิบาล) ตามแนวคิด ESG โดยให้ความสำคัญกับการผลักดันการเติบโตและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคม รวมทั้งดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส มีจรรยาบรรณและเป็นธรรม และ 4. Greener & Smarter Investment Focus การลงทุนในพอร์ตโฟลิโอ สร้างพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการนำเสนอแนวทางให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด (Energy Efficiency)
นอกจากนี้ ใน UN SDGs 17 ข้อ บ้านปูยังนำ6 ข้อ มาใช้และดำเนินการไปพร้อมกับกระบวนการทางธุรกิจ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็น UN SDGs, ESG หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) บ้านปูพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า และนำเข้ามาอยู่ในแผนงานของบ้านปู โดยมุ่งเน้นให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยและทุกๆ ประเทศ
“บ้านปูตอนนี้ ไม่เหมือนกับบ้านปูเมื่อ 30 ปีก่อน หรือ 10 ปีที่แล้ว เราทรานสฟอร์มตัวเองมาตลอด และทำมาเรื่อยๆ การขายโปรดักต์หรือ เซอร์วิส ของบ้านปูจะลดน้อยลง กลุ่มบ้านปูจะมีโปรดักส์เซอร์วิสที่ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม หรืออีโคซิสเต็ม บิซิเนสแพลตฟอร์ม หรือ อีโคซิสเต็ม อีโคโนมี่มากขึ้น และโชคดีที่เรามี Physical Access เยอะมาก”
ผู้บริหารบ้านปู อธิบายต่ออีกว่า บ้านปูเน็กซ์ ที่จัดตั้งขึ้นเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับแพลทฟอร์ม บิซิเนสโมเดลของบ้านปูตอนนี้ เป็นการอินทิเกท เราอินทริเกท Physical และดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะดีไซน์ออกมาให้เป็นโซลูชั่นของให้กับลูกค้า ไม่ว่าลูกค้าจะเป็นโรงไฟฟ้าใหญ่ ผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือในอนาคต จะเป็นสมาร์ทซิตี้ หรือสมาร์ทคอมมูนิตี้
และส่วนที่บ้านปูได้รับประโยชน์ คือ สามารถนำฟอร์ตโฟลิโอที่มี ไปมองหาการสนับสนุนทางการเงินที่เป็นกรีนไฟแนนซ์ซิ่ง และนั่นคือแนวทางที่จะทำให้บ้านปูสามารถสเกลอัพธุรกิจออกไปได้
นั่นคือ ทิศทางที่ทำให้บ้านปูมุ่งไปสู่ Smart Energy for Sustainability หรือ อนาคตพลังงานที่ยั่งยืนตามแผน Greener & Smarter ขององค์กร
หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,744 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 - 2 มกราคม พ.ศ. 2565