บิ๊กธุรกิจปิดดีลซื้อขายโรงแรมปี2564 ทะลุ 2.1หมื่นล้าน

07 ม.ค. 2565 | 06:34 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2565 | 20:57 น.

แม้จะเกิดโควิด แต่ตลาดโรงแรมไทยยังคงได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยดีลการซื้อขายที่เกิดขึ้นของกลุ่มบิ๊กธุรกิจไทย ที่ปิดการซื้อขายเกิดขึ้นในปี2564 จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 21,103 ล้านบาท

แม้จะเกิดโควิด-19 แต่ตลาดโรงแรมไทยยังคงได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุนทั้งในกลุ่มคนไทยกันเองและต่างชาติ โดยดีลการซื้อขายโรงแรมที่เกิดขึ้นของกลุ่มบิ๊กธุรกิจไทย จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การขายโรงแรมในไทย และ 2.การขายโรงแรมในต่างประเทศ ซึ่งมีที่ปิดการซื้อขายเกิดขึ้นในปีนี้ จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 21,103 ล้านบาท

 

การขายโรงแรมของกลุ่มทุนใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับพอร์ตทรัพย์สินเพื่อทำกำไร ตุนเงินสำหรับใช้เสริมสภาพคล่องช่วงโควิด รวมไปถึงการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพหรือการลงทุนตามกลยุทธของแต่ละบริษัทเพื่อต่อยอดการทำกำไรในอนาคต โดยการขายโรงแรมของกลุ่มที่รับบริหารโรงแรมอยู่แล้ว ก็จะเน้นการเจรจาที่จะเช่ากลับมาทำธุรกิจโรงแรมต่อ หรือจะเป็นในลักษณะการรับบริหารโรงแรมนั้นๆต่อ

 

 

หรือบางกลุ่มที่ไม่ได้บริหารโรงแรม แต่เป็นบริษัทที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงแรม ก็เลือกที่จะขายโรงแรมออกไปเพื่อทำกำไร และไปขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นๆแทน ทั้งยันเป็นโอกาสให้บิ๊กธุรกิจที่ลงด้านโรงแรม หันมาช้อนชื้อโรงแรมที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อ

 

AWC ซื้อเพิ่มพอร์ตโฟลิโอ

 

ทั้งนี้การปิดดีลซื้อขายโรงแรมในไทย เริ่มจากช่วงไตรมาสแรก ที่บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ซื้อโรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา ของเอเพ็กซ์ อีเวลลอปเม้นท์ เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นโรงแรม 5 ดาว รวมถึงการซื้อหุ้นในทีซีซี เวิ้งนครเขษม ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเจ้าสัวเจริญ เพื่อพัฒนาเป็นโรงแรม ที่อยู่อาศัย ค้าปลีก มูลค่าการลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ที่จะแล้วเสร็จในปี 70 ซื้อโรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่จากกลุ่มดุสิตธานี

 

บิ๊กธุรกิจปิดดีลซื้อขายโรงแรมปี2564 ทะลุ 2.1หมื่นล้าน

 

ดิเอราวัณ-ดุสิตธานีขายโรงแรม
    
                       

ขณะที่บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ได้ขายโรงแรม 2 แห่งบนเกาะสมุย มูลค่า925 ล้านบาท ให้กับกลุ่มสยามแก๊สโดยขาย เรเนซองส์ เกาะสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา ให้กับบริษัท อินฟีนิตี้ ฮอสพิแทลลิตี้ โฮลดิ้ง ในราคา 531 ล้านบาท และขายโรงแรมไอบิส สมุย บ่อผุด ให้แก่ บริษัท อินฟินิตี้ นอร์ท สมุย จำกัด ราคา 394 ล้านบาท

 

ดีลการซื้อ-ขายโรงแรมที่เกิดขึ้น ถือว่าลงตัวทั้ง 2 ฝ่าย โดยการที่กลุ่มสยามแก๊สตัดสินใจซื้อโรงแรมดังกล่าว ก็เพื่อขยายธุรกิจโรงแรมเข้าพอร์ตโฟลิโอ เพิ่มจากจากปัจจุบันที่กลุ่มสยามแก๊ส มีโรงแรมอยู่ในมือ 2 แห่งคือโรงแรมปรินซ์ พาเลซ และโรงแรมเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ซึ่งเป็นโรงแรมทิ่อยู่ติดกับโบเบ๊ ทาวเวอร์ และ พาราเดียม เวิล์ด ช้อปปิ้ง

 

การขายทั้ง 2 โรงแรมออกไป ดิเอราวัณ กรุ๊ป ก็มองว่าเป็นการดำเนินตามกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทในการปรับพอร์ตการลงทุนโรงแรมที่มุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มโรงแรมบัดเจ็ทภายใต้แบรนด์โรงแรมฮ็อปอินน์ และเพิ่มสัดส่วนรายได้และกำไรที่เกิดจากฐานลูกค้าผู้ใช้บริการภายในประเทศเป็นหลัก และทำให้เกิดกระแสเงินสดเพื่อสนับสนุนให้สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น

 

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงไตรมาส 3 ปีนี้บริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้ขายโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ ออกไปราว 303 ล้านบาท ตามแผนปรับพอร์ตทรัพย์สินเพื่อรับรู้กำไร (Asset Optimization) ตามแผนที่วางไว้เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และได้ทำสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมภายใต้ชื่อเดิมต่อ 10 ปี พร้อมสิทธิในการขยายเวลาอีก 5 ปี รวมเป็น 15 ปีอีกด้วย

 

เพอร์เฟค-SHR-ไมเนอร์ขายโรงแรมในตปท.

 

ไม่เพียงการขายกิจการโรงแรมในไทยเท่านั้น เจ้าของธุรกิจที่มีโรงแรมในต่างประเทศ ก็มีการทยอยขายทรัพย์สินออกมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และนำเงินมาใช้ในการขายธุรกิจที่มีศักยภาพ

 

ไม่ว่าจะเป็น “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) ที่ล่าสุดได้ขาย คิโรโระ รีสอร์ท ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม 2 แห่ง รวม 422 ห้องพัก และลานสกี มูลค่ารวม 15,000 ล้านเยน (ราว4,358ล้านบาท)ให้กับบริษัทGodo Kaisha Kiroro Management (GKKM) และกองทุนทรัสต์ Napier Tokutei Mokuteki Kaisha (Napier TMK)โดยหลังจาก KRH ได้โอนขายธุรกิจสกีและโรงแรมในประเทศญี่ปุ่นแล้ว จะยังคงดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นต่อไป

 

“การขายธุรกิจโรงแรมครั้งนี้  เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น ให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัท เป็นการขายในระดับราคาที่ทำกำไร และหันมาโฟกัสกับการลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เรามีความเชี่ยวชาญ บริษัทยังมีโครงการคอนโดมิเนียม “ยู คิโรโระ” ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรม สิทธิ์อีก 1,200 ล้านบาท ซึ่งตอบโจทย์ทั้งกลุ่มที่ต้องการบ้านพักตากอากาศและกลุ่มนักลงทุน จึงสร้างยอดขายได้ดีและใกล้ปิดการขายโครงการแล้ว” นายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

ขณะเดียวกันบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR บริษัทในเครือสิงห์ เอสเตท เมื่อเดือนเม.ย.64 SHR ได้ขายโรงแรม Mercure Newbury Elcot Park ในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นโรงแรมขนาด 73 ห้อง คิดเป็นมูลค่ารวม 4.25 ล้านปอนด์ (หรือราว 182 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตการลงทุนของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังพิจารณาที่จะขายโรงแรมในสหราชอาณาจักรอีกประมาณ 4-5 แห่ง

 

แม้ SHR จะขายโรงแรมบางแห่งออกไป แต่ SHR ก็มีโรงแรม 26 แห่งจาก 29 แห่งในสหราชอาณาจักร หลังจากเมื่อเดือนก.พ.64 เพิ่งทุ่มงบกว่า 560 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 50% ทำให้ SHRมีสัดส่วนการถือหุ้นโรงแรมในสหราชอาณาจักรอยู่100% ซึ่ง SHR ยังเชื่อมั่นต่อผลประกอบการของโรงแรมในสหราชอาณาจักร จากความคืบหน้าของแผนการฉีดวัคซีนจะผลักดันความต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศในปี 64 และตามด้วยการฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างภูมิภาคจากปี 65

 

นายเดิร์ก อังเดร ลีน่า คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กล่าวว่าเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวจะนำไปลงทุนพัฒนาปรับปรุงโรงแรมชั้นนำของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้สิงห์เอสเตท อยู่ระหว่างลงทุนสร้างโรงแรม โซ มัลดีฟส์ เปิดให้บริการปี 66 ลงทุนราว 60 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1,860 ล้านบาท ซึ่งเป็นรีสอร์ทแห่งที่ 3 ในมัลดีฟส์ ในโครงการ “ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์” ต่อจาก ทราย ลากูน มัลดีฟส์ และฮาร์ดร็อค โฮเทล มัลดีฟส์ ที่เปิดให้บริการอยู่แล้วเดิม และต่อยอดประสิทธิภาพในการทำกำไรของพอร์ตโฟลิโอในสหราชอาณาจักร โดยหวังดัน EBITDA ให้ขึ้นไปถึงระดับสูงสุดที่เคยทำได้ที่ 18 ล้านปอนด์ หรือเทียบเท่า 720 ล้านบาท
 

 

นายเอ็มมานูเอล จู้ด ดิลิปรัจ ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัท Minor Hotel Portugal, S.A (MHP) บริษัทย่อย 100% ของไมเนอร์ ได้ขายเงินลงทุนโรงแรม 2 แห่งมูลค่ารวม 148 ล้านยูโรหรือราว 5,700 ล้านบาท และให้ NH Hotel Group บริษัทย่อยในเครือไมเนอร์ เข้าบริหารโรงแรมภายใต้สัญญ่าในเบื้องต้น 20 ปี และขยายได้อีกรวมสูงสุดไม่เกิน 30 ปี

 

นอกจากนี้กลุ่มบริษัท ไมเนอร์  อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ยังได้ขายโรงแรม 2 แห่งของบริษัท Minor Hotel Portugal, S.A (MHP) บริษัทย่อย 100% ของไมเนอร์ มูลค่าราคาขายรวม 273.5 ล้านยูโร ได้แก่โรงแรมเอ็นเอช คอลเลคชั่น บาร์เซโลนา แกรนด์ โฮเทล กัลเดรอน ประเทศสเปน และโรงแรมทิโวลี มารีน่า วิลามัวรา ประเทศโปรตุเกส โดยเป็นการขายและเช่ากลับมาบริหารใหม่ ภายใต้เชนบริหาร NH Hotel Group บริษัทย่อยในเครือไมเนอร์   ซึ่งเงินสดที่ได้รับดังกล่าวไปใช้เพื่อจ่ายคืนหนี้และเพิ่มสภาพคล่องของบริษัท

 

ทั้งหมดล้วนเป็นความเคลื่อนไหวในการออกมาตัดขายธุรกิจของบิ๊กธุรกิจที่เกิดขึ้น

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,736 วันที่ 2- 4 ธันวาคม พ.ศ. 2564