ปิดงบปี2564สายการบิน-โรงแรม ยังอ่วม ปี65 ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว

06 มี.ค. 2565 | 10:09 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2565 | 17:26 น.

จากผลกระทบโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินและโรงแรม โดยเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แม้จะยังขาดทุนอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณการเริ่มขยับดีขึ้นบ้างในปีนี้

เริ่มจากธุรกิจสายการบิน โดย 4 สายการบินหลักของไทยที่จดทะเบียนในตลท. ผลประกอบการในปี2564 ล้วนขาดทุนต่อเนื่องเช่นเดียวกับปี2563 มีเพียง “การบินไทย” เพียงสายการบินเดียวเท่านั้น ที่สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ 55,113 ล้านบาท จากที่ขาดทุนในปีที่ผ่านมาร่วม 1.4 แสนล้านบาท 

 

แต่กำไรที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง แต่เป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ร่วม 8.1 หมื่นล้านบาท การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดขององค์กร จากเดิมการบินไทยมีพนักงานร่วม 3 หมื่นคน ปัจจุบันเหลืออยู่ 1.44 หมื่นคน รวมพนักงานสายการบินไทยสมายล์ 800 คนและพนักงานเอาท์ซอร์ท
 

ทั้งนี้หากวัดเฉพาะการดำเนินธุรกิจของการบินไทย ในปี2564 ก็พบว่าบริษัทฯก็ยังคงขาดทุนจากการดำเนินงานไม่ต่างจากสายการบินอื่น โดยในปี2564การบินไทยขาดทุนจากการดำเนินงานลดลงจาก 15,712 ล้านบาท ซึ่งรายได้หลักที่เข้ามาก็ยังเป็นรายได้จากการขนส่งสินค้าเป็นหลัก 

 

แต่เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นหลังประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go จากปกติที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้บริการการบินไทยอยู่ที่ 2,623 คนต่อวันในเดือนก.ย.64 ขยับมาเป็น 9,536  คนในเดือนธ.ค.64 แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับเพียง20% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯสามารถให้บริการตามปกติ
 

แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้  ด้วยความที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าไทยแบบTest & Go เพิ่มขึ้น อาทิ การยกเลิกตรวจ Rt-pcr ในครั้งที่ 2 รวมทั้งในหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการในการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น ในปี2565 การบินไทยจึงมีแผนจะเพิ่มความถี่ในเส้นทางต่างๆ อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล และเปิดจุดบินใหม่ ไปยังเมลเบิร์น ในประเทศออสเตรเลีย อินเดีย รวมถึงซาอุดิอาระเบีย

ในส่วนของ “ไทยแอร์เอเชีย” ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นปีที่ยากลำบาก ขาดทุนมากถึง11,786 ล้านบาท จากผลกระทบถูกสั่งให้หยุดบินในประเทศทุกเส้นทางในช่วงไตรมาส 3 ของปี2564 ส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่องเเละกระเเสเงินสด ทำให้บริษัทต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในการปรับลดขนาดองค์กร หาเงินทุนปรับโครงสร้างกิจการ โดย บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ได้ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1.4 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้แปลงสภาพ และได้เพิ่มทุนใน บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด จำนวน 3,900 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจากร้อยละ 55.0 เป็นร้อยละ 69.2 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564

 

แม้ไทยแอร์เอเชียจะขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ แต่บริษัทก็ปรับตัวในการแสวงหารายได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น การขยายธุรกิจด้านคาร์โก เช่าเหมาลำ และประโยชน์จากการปรับโฉมแบรนด์สู่ airasia Super App บุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ ทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และครอบคลุมขึ้น ต่อยอดธุรกิจสายการบินได้อย่างดี

 

เช่นเดียวกับบางกอกแอร์เวย์สและนกแอร์ ก็ยังคงประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ต่อเนื่องเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามในปี 2565  ธุรกิจสายการบินต่างๆก็ยังมองว่าน่าจะถือเป็นปีแห่งการฟื้นตัวธุรกิจ ทำให้สายการบินต่างๆเริ่มทยอยหันมาเพิ่มความถี่และเปิดเส้นทางบินใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งสายการบินต่างๆเชื่อว่าเส้นทางบินภายในประเทศน่าจะกลับมาได้ 100% ส่วนการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศก็จะเริ่มเห็นเพิ่มขึ้นในปีนี้เช่นกัน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาเป็นปัจจัยลบในปีนี้
 

ปิดงบปี2564สายการบิน-โรงแรม ยังอ่วม ปี65 ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว

 

 

ขณะที่ธุรกิจโรงแรมในตลท. ต้องถือว่า บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)หรือ AWC เป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งมาก โดยสามารถพลิกจากขาดทุน 930 ล้านบาท กลับมาทำกำไรในปี64 ได้ 861 ล้านบาท และล่าสุดยังประกาศจัดตั้งองค์กรการร่วมทุน (Investment Vehicle) เพื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวของไทย มีมูลค่าเงินลงทุนรวมสูงสุดประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเทียบเท่าประมาณ 16,500 ล้านบาท โดยผนึกผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำในไทยและต่างประเทศในการร่วมลงทุน
 

 

สำหรับโรงแรมส่วนใหญ่ในตลท.ล้วนยังขาดทุนอยู่ในปี2564 แต่หลายแห่งก็พบสัญญาณการขาดทุนที่ลดลง อาทิ  “ไมเนอร์” ซึ่งในปี2564 ขาดทุน1.3 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี2563 ที่ขาดทุน 2.1 หมื่นล้านบาท การปรับตัวดีขึ้นมาจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆเพิ่มขึ้น และไมเนอร์ฟู้ดที่ยังทำกำไรดีขึ้น ซึ่งไมเนอร์มองว่าในปี2565 ธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว และได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว 

 

ในด้านของ “เซ็นเทล”แม้ตลอดปี2564 จะปิดขาดทุนอยู่ที่1,733 ล้านบาท แต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ปี2564 ที่พลิกกลับมาทำกำไรได้ในไตรมาสดังกล่าว จากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร

 

เช่นเดียวกับ “ดุสิตธานี” ที่ในปี2564 ขาดทุน 944 ล้านบาท ลดลงจากปี2563 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 1,011 ล้านบาท ซึ่งแม้จะขาดทุน แต่กลุ่มดุสิตธานียังสามารถประคองประคองผลการดำเนินงานได้อย่างน่าพอใจ โดยมีผลกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้และค่าเสื่อมราคาที่ (EBITDA)เพิ่มขึ้น 130.9% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ธุรกิจโรงแรมและรายได้อื่นที่เพิ่มขึ้น  เช่นการขายดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่ โดยเป็นการขายและรับบริหารต่อ การกระจายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหาร เป็นต้น 

 

ดิเอราวัณ กรุ๊ป”แม้ในปีที่ผ่านมาจะยังขาดทุนอยู่จากผลกระทบโควิด แต่บริษัทก็บริหารความเสี่ยงด้วยการขายโรงแรม 5 แห่งออกไป  อย่าง โรงแรมเรเนซองส์ เกาะสมุย รีสอร์ท แอนด์สปา โรงแรมไอบิส สมุย บ่อผุด โรงแรมไอบิส ภูเก็ต กะตะ โรงแรมไอบิส หัวหิน โรงแรมไอบิส สไตล์ กระบี่ อ่าวนาง และหันมาขยายแบรนด์ “ฮ็อป อินน์” ซึ่งเป็นโรงแรมราคาประหยัดของเครือดิเอราวัณ กรุ๊ป ทั้งการสร้างเองและขยายแฟรนไชส์ 

 

โดยในปี2565 อยู่ระหว่างพัฒนา 9 แห่ง เป็นในประเทศ 7 แห่ง และในฟิลิปปินส์อีก 2 แห่ง และจะทยอยเปิดได้ตั้งแต่ไตรมาส1 ของปีนี้ โดยตั้งเป้าหมายจะมีโรงแรมบัดเจ็ทในประเทศไทยให้ถึง 100 แห่งในปี2568 ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มีโรงแรมฮ็อปอินที่เปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 47 แห่ง 
 

ทั้งหมดล้วนเป็นภาพรวมของธุรกิจในปีที่ผ่านมา และการเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจในปีนี้