ชงศบค.ยกเลิก Thailand Pass เปลี่ยนมาใช้ "วัคซีนพาสปอร์ต"เริ่ม1 มิ.ย.นี้

28 เม.ย. 2565 | 05:36 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 12:46 น.

รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอ ศบค. ยกเลิก Thailand Pass เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ เปลี่ยนมาใช้วัคซีนพาสปอร์ต ควบคู่กับการให้นักท่องเที่ยวกรอกข้อมูลการได้รับวัคซีนลงในใบ ตม.6 แทน พร้อมชงครม. เก็บ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" คนละ 300บาท

วันนี้ (28 เม.ย.65) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เตรียมเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในการประชุมครั้งถัดไป ให้พิจารณายกเลิกระบบ "Thailand Pass" โดยจะขอให้มีผลตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป และเปลี่ยนมาใช้ "วัคซีนพาสปอร์ต" ควบคู่กับการให้นักท่องเที่ยวกรอกข้อมูลการได้รับวัคซีนลงในใบ ตม.6 แทน

 

ทั้งนี้เพื่อสร้างความสะดวกให้กับการเดินทางมากขึ้น รวมถึงผู้ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย โดยประเมินว่าในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ น่าจะเป็นช่วงที่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนลดลง และใกล้ไทม์ไลน์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้

 

ขณะนี้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยื่นขอรับการพิจารณาเข้าประเทศแล้วกว่า 2.1 ล้านคน แต่ได้รับการอนุมัติเพียง 1.5 ล้านคนเท่านั้น หายไป 6 แสนกว่าคน ทำให้หากเป็นไปได้แล้วว่าการระบาดโอมิครอนมีแนวโน้มลดลง และใกล้ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ก็ปลดล็อกการเข้าประเทศไปเลย ซึ่งคาดว่าจะตอบโจทย์มากที่สุด

อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความเห็นด้วยในการยกเลิกระบบ Thailand Pass ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ส่วนกรณีที่ นายอนุทิน  ให้สัมภาษณ์ว่า การยกเลิกระบบ Thailand Pass นั้น จะมีการปรับเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติม คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) มาแล้ว หรือรวมกันอย่างน้อย 3 เข็ม

 

อีกทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มองว่าอาจต้องพิจารณานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นรายตลาดว่า ประเทศนั้นๆ มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วหรือไม่ หากยังไม่ได้ฉีดเข็ม 3 เพราะวัคซีนในประเทศนั้นๆ ไม่เพียงพอก็อาจต้องอนุโลมให้เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้ก่อน

 

ส่วนการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศผ่านช่องทางบกนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้จะมีการเปิดพรมแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย และ ไทย-ลาว ซึ่งในระยะต่อไปต้องติดตามว่ามาตรการการเข้าประเทศต่างประเทศจะเป็นอย่างไร หากมีการผ่อนคลายลงในภาพรวมก็จะเริ่มใกล้เคียงกับการเปิดพรมแดนปกติ

 

สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศไทยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" ในอัตราคนละ 300 บาทนั้น เบื้องต้นมีกำหนดนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์ถัดไป หากได้รับการอนุมัติ จะพร้อมประกาศใช้ภายในอีก 3 เดือนถัดจากนั้น

 

โดยรายละเอียดการเก็บที่ 300 บาท จะแบ่งเป็น 50 บาท ซื้อประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเอง พร้อมทั้งคาดว่าอาจนำเงินในส่วนนี้มาใช้รักษานักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง หรือผู้ป่วยสีเขียวด้วย ส่วนอีก 250 บาท จะนำเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ