สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชง 3 มาตรการดันเศรษฐกิจไทยติดปีก

27 พ.ค. 2565 | 02:52 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2565 | 10:19 น.

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอ 3 มาตรการเชิงรับและเชิงรุก ชูภาคการค้าปลีกและบริการ เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ หนุน SMEsเข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมภาคท่องเที่ยวให้แข็งแรง

เป็นเวลายาวนานเกือบ 3 ปีที่ไทยได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ และแม้ว่าสถานการณ์ ดูเหมือนกำลังจะคลี่คลายลงภายหลังจากการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย        ทั้ง 5 หรือที่เรียกว่า “พายุเศรษฐกิจ 5 สูง” ประกอบด้วย เงินเฟ้อสูง หนี้ครัวเรือนสูง ราคาพลังงานสูง ต้นทุนสินค้าสูง และราคาสินค้าสูง   ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้ขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่เผชิญกับ Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชง 3 มาตรการดันเศรษฐกิจไทยติดปีก

แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ หากเราไม่สามารถเร่งเครื่องเดินหน้าเศรษฐกิจไทยให้โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ Stagflationได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องผลักดันเศรษฐกิจให้มีการเติบโตท่ามกลางพายุเศรษฐกิจ 5 สูง โดยต้องมีมาตรการเชิงรับและเชิงรุก ที่รอบด้าน และทำให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง

 

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟู แต่ยังคงมีความเปราะบาง จากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกเป็นพระเอก แต่ตอนนี้จะเป็นการสลับขั้วกัน การส่งออกจะโตได้ไม่มากเนื่องจากถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้นต่อจากนี้ไป ภาคค้าปลีกและบริการจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และถือเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

 

เพราะในขณะนี้ ประเทศไทยต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเป็นหลัก โดยภาคการท่องเที่ยวมี SMEs ของค้าปลีกและบริการอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่ง SMEs ของภาคค้าปลีกและบริการนั้นมีจำนวนถึง 2.4 ล้านราย คิดเป็น 80% ของ SMEs ทั้งประเทศ (SMEs ทั้งประเทศมีจำนวนกว่า 3 ล้านราย)

 

อีกทั้ง ยังมีการจ้างงานในระบบกว่า 13 ล้านรายคิดเป็น 30% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการช่วยให้สถานะของตลาดแรงงานและระบบตลาดแรงงานไทยกลับมาแข็งแรงขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 5.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 34% ของ GDPการบริโภคทั้งประเทศ

 

ดังนั้นถ้าภาครัฐผลักดันให้ SMEs ในภาคค้าปลีกและบริการแข็งแรง โดยสร้างแต้มต่อและเสริมสภาพคล่องให้ SMEs ผ่านการเชื่อมต่อกับธุรกิจขนาดใหญ่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็ว ก็จะเสริมให้ภาคท่องเที่ยวของประเทศแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจไทยจึงจะกลับมาฟื้นคืน และเดินหน้าได้อย่างเต็มกำลังอีกครั้ง”

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงขอนำเสนอ 3 มาตรการเชิงรับและเชิงรุก ดังนี้

  1. ช่วยเหลือ SMEs ที่ได้จดทะเบียนในระบบ “THAI SME” ภายใต้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายในการนำ SMEs ไทยทั้งหมดจำนวนกว่า                    3 ล้านรายเข้าสู่ระบบให้มีสิทธิพิเศษ ดังนี้
  1. จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำด้วย Soft Loan พิเศษ “Digital Supply Chain Financing” ภายใต้โครงการ ITMX เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
  2. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างงานของ SMEs ด้วยโครงการคนละครึ่ง (Co-Payment) ที่รัฐบาลช่วยออกเงินค่าจ้างเด็กจบใหม่ 50% เป็นระยะเวลา 1 ปี ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ และยังช่วยเสริมสภาพคล่องของการจ้างงานในระบบ
  3. ให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท สำหรับผู้ซื้อสินค้าจาก SMEs ในระบบเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และเพิ่มรายได้ให้กับ SMEs ไทย







2ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภาษี สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคุณภาพสูง เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย และมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเปลี่ยนโครงสร้างในการจัดเก็บภาษีนำเข้า เช่น ไม่มี Import Tax สำหรับสินค้านำเข้าเมื่อมีการซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลอาจพิจารณาทดลอง ‘Sandbox ปลอดภาษี’ ที่จังหวัดภูเก็ตก่อนเป็นที่แรก เพราะภูเก็ต      ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ และในเฟสต่อไปจะขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ จนครบทั้งประเทศ

 

  1. อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจโดยโครงการของภาครัฐ
  1. นำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมา เพื่อเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ (Local Consumption) จากประชาชนกลุ่มที่มีรายได้สูง โดยเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท พร้อมเพิ่มระยะเวลาการใช้จ่ายเป็น 2 เดือน   ถือเป็นโครงการที่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็ว ตรงเป้า มีประสิทธิภาพสูงสุด     และใช้งบประมาณน้อยที่สุด
  2. ดำเนินโครงการคนละครึ่ง และไทยเที่ยวไทยไว้อย่างต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี ถือเป็นโครงการของภาครัฐ   ที่ได้รับผลตอบรับดี ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในการ กิน เที่ยว ใช้ สินค้าและบริการของคนไทย และถือเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ


“เศรษฐกิจไทยกำลังถูกกระทบจากความเสี่ยงรอบด้าน และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเรากำลังเผชิญพายุเศรษฐกิจ 5 สูงนี้อยู่       อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จำเป็นต้องเตรียมพร้อมและตั้งรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อรับมือกับพายุเศรษฐกิจนี้ให้ได้

 

นอกจากนี้ สมาคมฯ ขอฝากถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ให้เร่งดำเนินการตามนโยบาย 9 ดี : กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนของท่าน เพื่อยกระดับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นหัวใจหลักของประเทศให้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจและกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาแข็งแรง และประเทศไทยกลับมาเดินหน้าได้อย่างเต็มกำลังอีกครั้ง” นายญนน์ กล่าวทิ้งท้าย