ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่าใน 2564 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาท ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลประเมินว่า ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมจะมีการนำกัญชงไป ใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ส่งผลให้ตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 126% ต่อปี
จากความน่าสนใจและอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนจำนวนมากหลั่งใหลเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างคับคั่งหนึ่งในนั้นคือเอกภัทร พรประภา ทายาทรุ่นที่ 4 แห่งตระกูลพรประภา ที่เดิมโลดแล่นอยู่ในธุรกิจยานยนต์ครบวงจร ธุรกิจด้านการศึกษา รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุดเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด หรือ “GTG”
ทั้งนี้ นายเอกภัทร พรประภา ผู้ถือหุ้นของบริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ในต่างประเทศธุรกิจกัญชา กัญชง ถูกพูดถึงมานานนับ 20 ปี มีการวิจัยที่ชี้ชัดว่า กัญชาสามารถเป็นยารักษาโรคและเป็นพืชเศรษฐกิจที่ดีเพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนและไม่มีส่วนที่ต้องทิ้งเป็นขยะ นอกจากนี้สายพันธ์กัญชา กัญชง ที่ต่างประเทศใช้พื้นฐานมาจากสายพันธุ์กัญชา กัญชงไทยที่นำไปวิจัยต่อเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น
สำหรับในประเทศไทย อุตสาหกรรมกัญชา กัญชง เป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น “ใครเดินก่อนย่อมได้เปรียบ” โดย บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด (Golden Triangle Group Co., Ltd.) หรือ “GTG” เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่เข้ามาสู่ธุรกิจนี้และมีความพร้อมทำตลาดกัญชงเชิงพาณิชย์ในประเทศ
“เราเลือกลงทุนกับ “GTG” เพราะ “GTG” เริ่มต้นเร็วกว่าคนอื่น เราคิดว่าธุรกิจอะไรก็ตามใครเดินก่อนได้เปรียบเพราะธุรกิจตัวนี้ต้องใช้เวลาในการเริ่มและเติบโต ซึ่งชั่วโมงนั้น “GTG” เริ่มก่อน หลังจากที่ “GTG” เปิดรับผู้ถือหุ้นเพิ่ม เราจึงตัดสินใจเข้าลงทุนกับ GTG”
นายเอกภัทร กล่าวอีกว่า ไม่ว่าธุรกิจประเภทไหนก็ตามถ้าต้องการให้เติบโต รัฐบาลมีส่วนช่วยได้เป็นอย่างมากโดยส่วนตัวอยากให้รัฐบาลช่วยดูเรื่องกฎหมายที่เปิดโอกาสและส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น รวมทั้งช่วยจัดโรดโชว์ผลักดันผลิตภัณฑ์และผลผลิตจากกัญชาและกัญชงไปสู่เวทีโลก
“กัญชาเป็นสิ่งที่ทุกคนปลูกได้ แต่คุณภาพที่ได้ จะเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นโจทย์คือจะปลูกยังไงถึงจะได้ผลผลิตที่ใช้งานได้และมีคุณภาพสูงบนต้นทุนที่แข่งขันได้ ประเทศไทยมีความได้เปรียบทั้งด้านอากาศ แสงอาทิตย์ และน้ำ เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตกัญชาและกัญชงรายใหญ่ ทั้ง อเมริกา แคนาดา และประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่า อีกทั้งคนไทยและเกษตรไทยมีความเก่งในอุตสาหกรรมเกษตรไม่แพ้ใคร”
ประเทศไทยยังได้เปรียบในเรื่องของการเริ่มก่อน เพราะการศึกษาวิจัยจะต้องใช้เวลา ต้องมีการลองผิดลองถูกและต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสม และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพที่ขายได้จริงไปทั่วโลก ซึ่งกว่าจะได้ของที่มีคุณภาพมันจะต้องใช้ประสบการณ์และใช้เวลา ผมคิดว่าในภาควิจัยและผลิตรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประเทศไทยเริ่มได้เร็วและก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ใน South East Asia แล้ว
ขั้นถัดไป รัฐบาลควรช่วยสนับสนุนด้านการตลาด ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยทำโรดโชว์ ช่วยทำการตลาดและเปิดช่องทางการค้ากับประเทศผู้ผลิต แปรรูป กัญชาและกัญชงอื่นๆ ในโลก ผมเชื่อในคุณภาพของผลผลิตจากประเทศไทย
ประเทศไทยโชคดีที่ตั้งแต่มีการปลดล็อคกัญชา กัญชงจนมาถึงตอนนี้มีผู้ใหญ่ระดับประเทศหลายคนเห็นประโยชน์และช่วยสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะฉะนั้นตอนนี้ถือว่าประเทศไทยเดินเร็วพอสมควร และในอนาคตเราก็จะมีการลงทุนเพิ่มใน GTG เพราะเราจำเป็นที่จะต้องทิ้งระยะห่างจากคู่แข่งเราก็จะต้องลงทุนเพิ่มไปเรื่อยๆ”
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,794 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565