สูตรสำเร็จ ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ สร้างอาณาจักรค้าปลีกแสนล้าน

29 ก.ค. 2565 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2565 | 13:49 น.

เปิดสูตรสำเร็จ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” พลิกชีวิตเดินบนเส้นทางค้าปลีก ด้วยแนวคิด “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” กับการสยายปีก 2 แบรนด์ “ซีเจฯ-ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ท่ามกลางคู่แข่ง คู่ต่อสู้ที่สุดหิน แต่วันนี้กลับแข็งแกร่งและเริ่มออกวิ่ง พร้อมเติบโตแบบก้าวกระโดดสู่อาณาจักรแสนล้าน

แม้นักธุรกิจ นักลงทุน นักการเงิน จะมองว่า “โชห่วย” ร้านค้าปลีกเล็กๆ เก่าๆ โทรมๆ ในท้องถิ่น จะเป็นธุรกิจดาวดับ ไร้อนาคต เพราะการเข้ามาของโมเดิร์นเทรด และเทคโนโลยี แต่สำหรับ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ที่คลุกคลีเดินเข้า-ออก ร้านโชห่วยมานานกว่า 10 ปีจากวันแรกที่เริ่มต้นทำคาราบาว กรุ๊ป กลับไม่มองเช่นนั้น “เสถียร” เลือกที่จะให้ “โอกาส” และตัดสินใจเริ่มต้นพลิกฟื้นโชห่วยให้กลายเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในชุมชน ด้วยแนวคิด “กินแบ่ง ไม่กินรวบ

 

ชูจุดแข็ง ปิดจุดอ่อน

“เสถียร เศรษฐสิทธิ์” วันนี้ในบทบาทของ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้บริหารโครงข่ายร้านค้าปลีก ภายใต้ชื่อ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” สะท้อนให้ฟังว่า ร้านโชห่วยเป็นธุรกิจฐานรากของคนไทย การเข้ามาของโมเดิร์นเทรด ทำให้ร้านโชห่วยล้มหายจากไป

เสถียร เศรษฐสิทธิ์

ขณะที่ “จุดอ่อน” ของร้านโชห่วยคือ เงินทุนที่จำกัด ความรู้ในการบริหารจัดการ เราจึงเห็นร้านโชห่วยเปิดๆ ปิดๆ แต่ “จุดแข็ง” ของร้านโชห่วยคือ อยู่ในชุมชน คนรู้จัก นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามีความคิดว่า จะช่วยให้ร้านโชห่วยเดินหน้าต่อไป ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ และเชื่อว่าหากพลิกฟื้นร้านโชห่วยได้ 3-4 แสนร้านค้า ก็จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต

              

“ทำมาวันนี้ 2 ปีเศษ ฝันของเราเป็นจริง เพราะวันนี้มีร้านถูกดีฯ เปิดให้บริการแล้วกว่า 5,000 ร้านใน 62 จังหวัด ยกเว้นภาคใต้ มีร้านที่สมัครเข้ามาร่วมในโครงข่ายรอการพิจารณาอีกกว่า 1,000 ร้าน เฉลี่ยแต่ละสัปดาห์มีผู้สนใจติดต่อสมัครเข้าร่วมราว 500 ร้าน หรือราว 2,000 ร้านต่อเดือน และปลายปีนี้จะมีร้านถูกดีฯ 1 หมื่นร้านทั่วประเทศ”

 

“เสถียร” ยอมรับว่า ทำงานในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ยาก เจอปัญหา อุปสรรคมากมาย ลองผิดลองถูกเยอะ เพราะแต่ละพื้นที่มีความนิยม ความต้องการที่ไม่เหมือนกัน วันนี้เขาเลือกที่จะลงพื้นที่เองร่วมกับทีมงานกว่า 5,000 ชีวิต เพราะการได้ลงพื้นที่เองทำให้เขารู้ว่า ร้านโชห่วยแต่ละร้านเป็นอย่างไร แต่ละคนคิดอย่างไร ต้องการอะไร และปัญหาคืออะไร

สูตรสำเร็จ ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ สร้างอาณาจักรค้าปลีกแสนล้าน

หัวรถจักรโตก้าวกระโดด

“ปัญหามีทุกวัน เช้ามาจะเห็นว่ากว่า 1,000 ร้าน ยังไม่โอนเงินยอดขายของเมื่อวานเข้าบัญชีเลย ซึ่งเขาอาจจะติดปัญหาในครอบครัว ต้องเอาเงินไปหมุน จ่ายหนี้นอกระบบ ฯลฯ ซึ่งเราต้องบริหารจัดการให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ และช่วยทำให้เขามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เลี้ยงครอบครัวได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะลดลง”

              

เป้าหมายในการเดินไปข้างหน้า คือการพลิกจากร้านโชห่วย เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในชุมชน บ่งบอกถึงความเจริญให้กับท้องถิ่น จากการเข้าไปพัฒนาร้านค้าให้สะอาดสะอ้าน การคัดสรรสินค้าให้ตรงกับสิ่งที่ชุมชนต้องการ วันนี้เราเริ่มเปิดรับสมาชิก และจะทำ pre-order ให้สมาชิกไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถสั่งซื้อสินค้านับแสนรายการได้ แตกต่างจากสินค้าในร้านที่มีอยู่กว่า 2,000 รายการ รวมทั้งยังมีบริการรับชำระเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นหัวรถจักรให้ร้านถูกดีฯ เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

              

รวมถึงการจับมือกับธนาคารกสิกรไทย ร่วมลงทุนมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาทในการจัดตั้งบริษัทเพื่อให้บริการทางการเงิน ทั้งการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการร้านถูกดีฯ สินเชื่อกับซัพพลายเออร์ รวมไปถึงสินเชื่อกับลูกค้าเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งร้านถูกดีฯ เหล่านี้จะเป็นจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) ในอนาคตได้ด้วย

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน

ปี 66 กำรายได้ 7 หมื่นล้าน

เสถียร” บอกว่า 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทยังขาดทุนหลายพันล้านบาท แม้ในปี 2564 จะมียอดขายกว่า 5,800 ล้านบาท แต่เขาเชื่อว่าจะเริ่มมีกำไร เมื่อมีร้านค้าถึง 1 หมื่นร้านในปลายปี 2565 และทำรายได้ราว 2 หมื่นล้านบาท จากการบริหารจัดการต้นทุนที่ลงตัว

 

เสถียร ยังวาดแผนในฝันให้ฟังว่า ในปี 2566 จะเห็นร้านถูกดีฯ กระจายอยู่ 2 หมื่นร้านทั่วประเทศ และสามารถสร้างยอดขายได้ราว 6-7 หมื่นล้านบาท ก่อนจะเพิ่มเป็น 3 หมื่นร้านในปี 2567 โดยเฉลี่ยใช้เงินลงทุน 1 ล้านบาทต่อร้านค้า ดังนั้นเฉพาะการลงทุนในร้านถูกดีฯ จะต้องใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน

ขณะเดียวกันยังเตรียมใช้เงินลงทุนอีก 2.4 หมื่นล้านบาทในการก่อสร้างคลังสินค้าอีก 8 แห่ง โดยเฉลี่ยใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาทต่อแห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 1 แห่งที่บางปะกง และจะทยอยก่อสร้างอีกที่ จ.ขอนแก่น, จ.ลำพูน และจ.บุรีรัมย์ นอกจากนี้ในปีหน้า จะเห็นร้านถูกดีฯ ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากจ.นครศรีธรรมราช พร้อมกับคลังสินค้าแห่งแรกในภาคใต้

 

ยื่นไฟล์ลิ่ง Q2/2566

นอกจากแผนการเดินหน้าของร้านถูกดีฯ ที่เป็นรูปธรรม “เสถียร” ยังบอกถึงแผนธุรกิจค้าปลีกว่า ยังคงเดินหน้าดันซีเจฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะยื่นไฟล์ลิ่งได้ในไตรมาส 2 ปี 2566 และ IPO ในไตรมาส 4 ปีเดียวกัน หลังจากที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนจากแผนเดิมที่จะเข้าตลาดในปีนี้

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน               

ด้วยความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างองค์กรและแผนงาน ทำให้ในปี 2564 ซีเจฯ มียอดขายกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท มีกำไรกว่า 1,400 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2565 ที่มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 250 สาขา และจนถึงสิ้นปีจะมีสาขาเพิ่มเป็น 1,000 สาขา จะมียอดขายเพิ่มเป็นกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท และมีกำไรเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องอีก 250 สาขาในปี 2566 ด้วยเงินลงทุนอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาทสำหรับการขยายสาขาทั้งในรูปแบบซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต และซีเจ มอร์

              

“แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะไม่ดีนัก กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง แต่ด้วยบิสิเนส โมเดล ของซีเจฯ ที่มีสินค้าพื้นฐานเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ราคาคุ้มค่า และการเปิดให้บริการใกล้บ้าน ใกล้ชุมชน ทำให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน จึงเชื่อมั่นว่าธุรกิจยังเติบโตต่อไปได้ดี”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,804 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565