ลากโบอิ้งนกแอร์มาอยู่รันเวย์แล้ว เชียงรายเฮวันนี้น่าถึงหลุมจอด     

04 ส.ค. 2565 | 04:09 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2565 | 11:28 น.

พยายามมาหลายวันจนสำเร็จ  ล่าสุดเมื่อตี 4 เช้ามืดวันที่ 4 ส.ค,2565  ทีมเคลื่อนย้ายอากาศยานฯ สามารถนำเครื่องบินโบอิ้ง 737-800ของนกแอร์ที่ไถลออกนอกรันเวย์ กลับขึ้นมาอยู่บนรันเวย์ได้แล้ว เตรียมลากเข้าหลุมจอดต่อ เตรียมเคลียร์รันเวย์เร่งเปิดสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงราย ว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา (4 ส.ค.2565)   ทีมเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) ซึ่งได้มีการสนธิกำลังกันหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน พยายามเคลื่อนย้ายเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD-108 ที่ประสบอุบัติเหตุจนเครื่องบินไถลออกนอกทางวิ่ง (Runway Excursion) ขณะลงจอดที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เหตุเกิดเมื่อเวลา 21.06 น.วันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
 

 

จนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายต้องออกประกาศผู้ทำการในอากาศ (NOTAM) ปิดทางวิ่งหรือรันเวย์ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ระหว่างวันที่ 31กรกฎาคม-3สิงหาคม ก่อนจะออกประกาศผู้ทำการในอากาศ (NOTAM) ตามมาอีกครั้ง โดยขยายเวลาการปิดทางวิ่งหรือรันเวย์ไปจนถึงเวลา 22.00 น. วันที่ 5 สิงหาคม 2565

ลากโบอิ้งนกแอร์มาอยู่รันเวย์แล้ว เชียงรายเฮวันนี้น่าถึงหลุมจอด     

ล่าสุด ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ได้แจ้งข่าวดีผ่านทางไลน์กลุ่มสื่อมวลชน ว่า เมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้ (4 ส.ค.2565) ทีมเคลื่อนย้ายอากาศขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) ได้ทำการเคลื่อนย้ายเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 สายการบินนกแอร์ ลำที่ประสบเหตุไถลออกนอกทางวิ่ง (หรือรันเวย์) จนล้อหน้าและล้อหลังเสียหาย ให้กลับขึ้นมาอยู่บนทางวิ่ง หรือรันเวย์ ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

สำหรับขั้นตอนต่อไปคาดว่า ทีมเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) จะได้ลากจูงเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ของสายการบินนกแอร์ เข้าไปสู่หลุมจอดเพื่อเข้าสู่กระบวนการซ่อมแซมต่อไป อย่างไรก็ตามขั้นตอนการเคลื่อนย้าย-ลากจูง รวมไปถึงรายละเอียดของการปฏิบัติงานต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ ต้องรอฟังจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ซึ่งจะเปิดแถลงวันที่ 4 ส.ค.2565 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมตอบแทนคุณแผ่นดิน อาคารสำนักงาน 

ลากโบอิ้งนกแอร์มาอยู่รันเวย์แล้ว เชียงรายเฮวันนี้น่าถึงหลุมจอด     

ด้านสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ หรือ CAAT รายงานว่า  CAAT ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากฝ่ายมาตรฐานสนามบิน ลงพื้นที่เตรียมตรวจสอบมาตรฐาน ก่อนอนุญาตกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ และได้แจ้งให้ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย (ทชร.) ซ่อมแซมระบบ อุปกรณ์ และปรับทางวิ่ง เพื่อให้กลับสู่สภาพตามมาตรฐานความปลอดภัย และต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ CAAT ก่อน ถึงกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ 

 

มีรายละเอียดดังนี้ 1.ซ่อมแซมระบบไฟฟ้าสนามบินและเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศประเภททัศนวิสัย (Visual Aids) ที่ได้รับความเสียหาย ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ (ทั้งนี้ จะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้เคลื่อนย้ายอากาศยานพ้นจากบริเวณที่ระบบไฟฟ้าสนามบินและเครื่องช่วยอำนวยความสะดวก ฯ ติดตั้งอยู่)

 

2.กำจัดวัตถุแปลกปลอม (Foreign Object Debris : FOD) ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์อากาศยานไถลออกจากทางวิ่ง และจัดให้มีมาตรการในการเฝ้าระวัง FOD ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างและหลังการดำเนินการเคลื่อนย้ายอากาศยาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติการของอากาศยาน

 

3.ทดสอบค่าความเสียดทานของทางวิ่ง (Friction Test) ก่อนเปิดใช้งานทางวิ่ง เพื่อให้แน่ใจได้ว่าค่าความเสียทานของทางวิ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

 

4.เร่งดำเนินการปรับค่าระดับพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง (Runway Strip) บริเวณที่อากาศยานไถลออกจากทางวิ่ง ให้มีค่าระดับเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 14 ว่าด้วยมาตรฐานสนามบิน โดย Runway Strip คือพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง (Runway) ที่มีไว้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายแก่อากาศยานที่วิ่งออกนอกทางวิ่ง

 

5.ส่งรายงานการดำเนินการกรณีอากาศยานไถลออกนอกทางวิ่งให้ CAAT ทราบ หลังเหตุการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติเรียบร้อยแล้ว

 

ขณะที่ ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ในกรณีที่อากาศยานประสบเหตุ นักบินของอากาศยานนั้นจะต้องหยุดทำการบิน และเข้ารับการตรวจทางแพทย์ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง จากสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรอง ซึ่ง CAAT ได้รับทราบผลการตรวจร่างกาย และผลการตรวจหาสารเสพติดของนักบินและนักบินผู้ช่วยของเครื่องบินลำที่เกิดเหตุแล้ว พบว่ามีผลเป็นปกติ

 

กรณีเครื่องบินไถลออกนอกทางวิ่งที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) เคยชี้แจงถึงกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย หลังจากจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้แล้ว ดังนี้

 

1.พิทักษ์อากาศยาน (Aircraft Custody) โดย ท่าอากาศยาน ไม่ให้ผู้ใดไปยุ่งกับหลักฐานหรืออากาศยาน นักบินก็กลับขึ้นไปบนเครื่องไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุ ของรัฐ ( กสอ )

 

2.แจ้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยาน ( กสอ ) ให้ทราบเพื่อเข้ามาสอบสวน

 

3.สนามบินเก็บหลักฐานเบื้องต้นอย่างละเอียด สำรวจพื้นที่ตำแหน่งที่ไถลออก ร่องรอยล้อ สภาพพื้นผิว ความเสียหายของกายภาพและเครื่องช่วยในการเดินอากาศ

 

4.การเคลื่อนย้ายอากาศยานเป็นหน้าที่ของเจ้าของหรือผู้จดทะเบียนอากาศยานโดยตรงตามกฎหมายกำหนดใน พรบ เดินอากาศ 2497 และตามข้อกำหนด icao doc 9137 part 5 removal of disable aircraft นอกจากผู้ดำเนินการเดินอากาศดังกล่าวทำไม่ได้ ให้ร้องขอจากสนามบินให้ช่วยดำเนินการ

 

5.ก่อนการเคลื่อนย้ายอากาศยาน ต้องได้รับการอนุญาตจาก กสอ ที่เข้ามาสอบสวน พิจารณาปลดพิทักษ์ให้ก่อน ไม่ว่าปลดพิทักษ์ชั่วคราวหรือถาวร ถึงจะดำเนินการเข้าไปจัดการกับหลักฐานใดๆได้

 

6.สนามบินต้องเตรียมพื้นที่รองรับอากาศยานที่เคลื่อนย้าย เพื่อไปพิทักษ์ต่อในการสอบสอบให้สมบูรณ์  

 

7.สนามบินสำรวจความเสียหาย ซ่อมแซมให้พร้อมการใช้งานทางวิ่ง และสิ่งอำนวยความสะดวก ส่งหลักฐานขอความเห็นชอบสำนักงานการบินพลเรือน ก่อนเปิดใช้งาน