นับเป็นเวลานานกว่า 13 ปีแล้ว หลังจาก สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ หน่วยงานเล็ก ๆ ที่ทำงานด้านการพัฒนาด้วยการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจังหวัดน่าน สร้างรายได้ สร้างความยั่งยืน และคืนชีวิตของคนที่เรียกว่าเป็นแถวหลังที่สุดของประเทศ
ทุกวินาทีของการพัฒนาที่ยาวนานเกินกว่าทศวรรษ เริ่มผลิดอกออกผลให้เห็น เพราะทุกวันนี้จังหวัดน่านที่ใครหลายคนเคยมาเยือน กำลังเข้าสู่ยุคของความเจริญขึ้นผิดตา จนแทบจะลบภาพจำของจังหวัดที่ยากจนอันดับต้น ๆ ของประเทศไปเสียหมดสิ้น
ปิดทองหลังพระฯ เริ่มเข้ามาตั้งต้นพัฒนาในพื้นที่ตันแบบจังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี 2552 โดยทดลอง ทดสอบ วิจัย ค้นหา และเปลี่ยนมายเซ็ตของชาวบ้านในพื้นที่ ให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของการพัฒนา เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ และโอกาส โดยเฉพาะการทำการเกษตรยั่งยืน ควบคู่กับฟื้นฟู ปรับปรุงต้นน้ำ ที่เคยขาดแคลน และเต็มไปด้วยสารพิษจากสารเคมี
ในที่สุดพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาของจังหวัดน่าน ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น วัดได้ด้วยตัวเลขปัจจุบัน ดังนี้
แต่อย่างไรก็กีการพัฒนากำลังเกิดความท้าทายใหม่ กับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไปด้วยปัจจัยแวดล้อม โดย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ยอมรับว่า ยุคของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบน่านกำลังเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง หลังจากบริบทเปลี่ยนไป ทำให้ปิดทองหลังพระฯ ต้องวางแผนในการสร้างความยั่งยืน
“13 ปีที่แล้ว ชาวบ้านไม่มีทางเลือก แต่ตอนนี้เมื่อการพัฒนาทำอย่างต่อเนื่องและเกิดผลสำเร็จออกมาที่สามารถวัดได้ ชาวบ้านก็มีทางเลือกในการสร้างโอกาสเรื่องการหารายได้มากขึ้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะปิดทองหลังพระฯ เองจะต้องเร่งสร้างชาวบ้านสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยมีปิดทองเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างหลัง” นายชาติชาย ระบุ
ด้าน นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า ในการต่อยอดการพัฒนาจังหวัดน่าน ให้สามารถโตได้อย่างยั่งยืนบนขาของตัวเอง ล่าสุด ปิดทองหลังพระฯ ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ต่อยอดพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน ซึ่งได้ทำมานานกว่า 13 ปี ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาในระยะต่อไป
สำหรับการลงนามครั้งนี้ มีส่วนราชการจังหวัดน่าน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน, สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน, สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดน่าน, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน, อบต.ศรีภูมิ, อบต.ตาลชุม, อบต.ขุนน่าน, เทศบาลตำบลยอด รวมถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
สำหรับสาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ทุกภาคีการพัฒนาทั้งหมดตกลงที่จะเชื่อมโยงแผนชุมชนที่มีการจัดทำขึ้นก่อนหน้านี้เข้าสู่ระบบราชการปกติ โดยมีงบประมาณจากทั้งราชการส่วนท้องที่และท้องถิ่น เพื่อต่อยอดการพัฒนา โดยปิดทองหลังพระฯ จะยังคงให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้เทคโนโลยี และให้คำปรึกษาต่อไป
สำหรับตัวอย่างของความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ มีดังนี้
นายวีรเทพ กล่าวว่า ปิดทองหลังพระฯ จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้หมู่บ้านต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะห้องปฏิบัติการทางสังคม เปิดรับการเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และฝึกอบรม ให้หน่วยงานภายนอก รวมทั้งเป็นพื้นที่ทดลององค์ความรู้ใหม่ ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้หมู่บ้านต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ทั้ง 20 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบน่านในช่วงต่อจากนี้ คงต้องหาทางนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ และส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งด้านการเกษตร การหาตลาด และการท่องเที่ยว เบื้องต้นปิดทองฯ กำลังทดสอบการสร้าแพลตฟอร์มกลางเพื่อนำผลิตภัณฑ์คุณภาพของชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบปิดทองมาไว้ในออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงให้ถึงมือผู้ซื้อโดยตรง คาดว่าน่าจะช่วยให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์มากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น รายได้มากขึ้น และทันสมัยมากขึ้น” นายวีรเทพ ระบุ
อย่างไรก็ดีในกระบวนการส่งเสริมทั้งหมด ปิดทองหลังพระฯ ยังไม่ลืมหัวใจหลัก นั่นคือการสร้างองค์ความรู้ตามศาสตร์พระราชา แนวพระราชดำริ และหลักการทรงงานมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และชาวบ้านได้เห็น โดยไม่ใช่แค่ไปจบที่การส่งเสริมการตลาดเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นเท่ากับว่าไม่ใช่การสร้างความยั่งยืนที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง