ดร.ธีรธร ธาราไชย ประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เปิดเผยในงานสัมมนา The Big Issue 2022 ความโปร่งใสในการประมูลงานรัฐกับอนาคตประเทศไทย ช่วงแนวทางข้อเสนอแนะการประมูลภาครัฐกับอนาคตประเทศไทย ว่า หากกล่าวถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นถึงการป้องกันคอร์รัปชัน แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักสากลที่มีความสำคัญไม่ต่างกัน ประกอบด้วย 6 ประเด็น 1.สาธารณะได้ประโยชน์ (The Public Good) โดยสาธารณะได้งานที่ดี มีคุณภาพ ทันสมัย ตรงตามเป้าประสงค์ของการพัฒนา ซึ่งมีความหมายมากกว่าราคาถูกเท่านั้น รวมทั้งการมองภาพรวมและการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 2.ความคุ้มค่า (Value for Money) หมายความถึงสิ่งที่ได้เทียบกับต้นทุน ถูกสุดไม่เท่ากับดีสุด และคุ้มค่าระยะยาว ไม่ใช่การจำกัดเพียงแค่ได้ราคาต่ำสุดเท่านั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
3.ความโปร่งใส (Transparency) โดยเป็นความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ และมีกระบวนการทั้งกระบวนการที่เหมาะสม 4.สัญญาคุณธรรมที่สามารถดำเนินการได้ (Integrity) ซึ่งจะต้องซื่อสัตย์ ตรงต่อคุณธรรมที่ตกลงร่วมกัน รวมทั้งการทำตามและปฏิบัติต่อข้อตกลงร่วมกันรับผิดชอบต่อหน้าที่และเป้าหมายของบุคคลและองค์กร 5. การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม(Fair Treatment of Suppliers) โดยไม่เอาเปรียบคู่สัญญาจนเกิดความเสี่ยงของการทำผิดข้อสัญญา หรือ การฟ้องร้องที่ไม่จำเป็น,เป็นธรรมและเป็นสากล และ 6.การไม่กีดกันทางการแข่งขัน (Non-Discrimination) โดยไม่กีดกันให้โอกาสการเข้าร่วมหากมีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่ผิดหลักข้อตกลงทางการค้าที่ได้ตกลงไว้
ดร.ธีรธร กล่าวต่อว่า ส่วนเป้าหมายของการบริหารโครงการ (Goal of Project Management) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วยการบริหารทรัพยากรและความเสี่ยงนั้น พบว่าการคอร์รัปชันถือเป็นความเสี่ยงมาก เพราะในสัญญาการก่อสร้างจะมีการระบุรายละเอียดทั่วไป หากรายละเอียดดังกล่าวมีความแตกต่างก่อนเกิดการประมูลในการทำงานจริงจะทำให้เกิดข้อพิพาทได้ โดยการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย,สุขภาพและมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อประชาชน นอกจากนี้การดำเนินโครงการฯแต่ละครั้งจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีจรรยาบรรณตามหลักวิศวกรที่สามารถตรวจสอบได้และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
ขณะเดียวกันปัญหาของการจัดซื้อจัดจ้างที่พบเห็นบ่อยมีหลายส่วน เช่น กระบวนการที่ซับซ้อนเกินไป,ผู้ปฏิบัติการที่มีความรู้ความเข้าใจที่ไม่เพียงพอ,ระยะเวลาที่จำกัด,ราคาที่ต่ำเกินไป,การเข้าถึงเอกสารการที่เกี่ยวข้อง,คณะกรรมการขาดความรู้ความเข้าใจทางเทคนิค,กระบวนการบางอย่างที่ไม่เหมาะสม,ความรู้ความสามารถของผู้เข้าประมูล,การกีดกันทางการค้า,ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ของโครงการตามเป้าประสงค์,ต้นทุนที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น,เกิดข้อถกเถียงเยอะและเกิดปัญหาทางคดีความ,ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถส่งมอบงานได้,ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล,กระบวนการเบิกจ่ายมีปัญหา รวมทั้งมีปัญหาเวลามีการเปลี่ยนแปลงเนื้องาน มีข้อถกเถียงมากนำไปสู่การเกิดคดีความ ฯลฯ
“จะทำอย่างไรให้คนดีสามารถทำงานได้ หากคนที่ทำงานทุกคนถูกมองเป็นผู้ร้ายถือว่าเกินไป เพราะฉะนั้นต้องหาจุดพอดีที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสามารถทำได้ อยู่ในกรอบที่กำหนด”
สำหรับแนวทางที่ส่งเสริมพัฒนากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องมีกฎเกณฑ์,กระบวนการที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ และเข้าถึงได้โดยสาธารณะการใช้กระบวนการหรือเทคโนโลยี เพื่อลดกระบวนการที่ใช้วิจารญาณหรือเป็นปัจเจกลง การส่งเสริมให้มีบุคลากรที่เป็นกลาง และมีความรู้ความสามารถทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องมีส่วนรวมในกระบวนการทั้งกระบวนการ โดยนำเอาองค์ความรู้หรือกระบวนการทางสัญญาที่เป็นสากลมาปรับใช้อ้างอิง
นอกจากนี้ควรเลิกใช้แนวทาง Lowest Bid เพราะเป็นปัจจัยกีดขวางทางความคุ้มค่าและการพัฒนา รวมทั้งกระบวนการที่แยกจากกัน ทำ ควบคุม ตรวจสอบ สอบทานกำกับดูแล