นาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันนี้ ในพิธีปิดหลักสูตร Wealth of Wisdom : WOW รุ่นที่ 1 ว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่เราเพิ่งจะเริ่มผ่านพ้นจากวงจรสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็มีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ อาจต้องหยุดชะงัก แต่ก็ทำให้ได้คิดวางแผนธุรกิจว่าในช่วงวิกฤตต้องทำอย่างไรเพื่อให้เอาตัวรอด และหลังวิกฤตต้องทำอย่างไร
ซึ่งวิกฤตครั้งนี้ ต่างกับ วิกฤตยุค 2540 ที่เป็นวิกฤตของสถาบันการเงิน , วิกฤต 2551-2552 ก็เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากสหรัฐอเมริกา หรือจะเป็นวิกฤติน้ำมันในช่วง 2549 แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤติที่ไม่สามารถป้องกันได้ เป็นวิกฤตที่แผ่วงกว้าง ซึ่งเกิดแผลเป็นหลังวิกฤติ เกิดทั้งความยากจน และความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือน ที่ทุกรัฐบาลทั่วโลก ต้องหาทางฟื้นฟู รักษาแผลเป็นในส่วนนี้
นายอาคมกล่าวถึงประเทศไทยว่า ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ใช้มาตรการทางการเงินการคลัง เพื่อแก้ปัญหาไปจำนวนมาก มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2563 จำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือภาคประชาชนอย่างเร่งด่วน จากนั้น ก็มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ เป็น พ.ร.ก. เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องในภาคธุรกิจ
ซึ่งในปี 2564 ก็มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้าน เนื่องจาก โควิด ยังไม่หายไป และจำเป็นต้องกู้เงิน เนื่องจากในกรอบงบประมาณนั้น มีรายละเอียดการใช้เงินไว้หมดแล้ว จึงนำมาสู่หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการปฏิรูปการหารายได้ของภาครัฐ โดยหลักคือ การส่งออก และการท่องเที่ยว
นายอาคม กล่าวถึงการจัดการหนี้ของภาครัฐว่า รัฐบาลพยายาม ปรับโครงสร้างหนี้ หาแหล่งเงินที่มีดอกเบี้ยถูก เปลี่ยนหนี้ระยะสั้น ให้เป็นระยะยาวขึ้น รวมทั้งลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ในสกุลเงินที่ไม่มีศักยภาพ เพื่อประกันความเสี่ยงในการชำระหนี้
สิ่งที่สำคัญในยุคนี้ คือเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะต้องพัฒนาให้ทันความก้าวหน้าของโลก ทั้งระหว่างภาคธุรกิจ รัฐบาล และภาคประชาชน เช่นการทำธุรกรรมทางการเงินแบบไร้พรมแดน ในขณะที่การทำธุรกรรมกับภาครัฐอาจมีความอุ้ยอ้ายมากกว่า แต่กำลังพัฒนาให้มีความรวดเร็วมากขึ้น เช่นการชำระภาษี เป็นต้น
นายอาคม กล่าวถึง เรื่องของคุณภาพชีวิต ด้วยว่า ย่อมต้องกล่าวถึงนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ทั้งการประชุม COP 27 ที่ผ่านมา ก็มีความเข้มข้นมากขึ้น หรือเอเปค ที่มีการพูดถึงการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ BCG เพราะฉะนั้นแนวโน้มของโลกให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าทั้งสถาบันการเงินภาครัฐ และสถาบันการเงินภาคเอกชน ล้วนการตั้งกรอบวงเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่สอดคล้องกับเทรนด์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเศรษฐกิจที่ใช้องค์ประกอบทางชีวภาพที่ปลอดภัยกับมนุษย์
นายอาคม กล่าวถึงหลักสูตร Wealth of Wisdom ด้วยว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นสร้างความมั่งคั่ง ไม่ใช่เพียงทางทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่งคั่งทางภูมิปัญญาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ