น่าห่วง! เด็กไทยเบี้ยวหนี้ กยศ. 2.3 ล้านราย มูลค่าเกือบแสนล้าน

17 ธ.ค. 2565 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2565 | 22:51 น.

สภาพัฒน์ฯ เปิดข้อมูลภาคต่อเด็กไทยเบี้ยวหนี้ กยศ. พบข้อมูลล่าสุด ผิดนัดชำระถึง 2.3 ล้านราย คิดเป็น 65% ของลูกหนี้ทั้งหมด โดยมีมูลค่าเกือบแสนล้าน กระทบภาระกองทุน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูล รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2565 โดยจัดทำรายงานสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ เรื่อง กยศ. : การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยให้ยั่งยืน พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลข “เด็กเบี้ยวหนี้“ หรือผู้ผิดนัดชำระหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ดังนี้

 

ทั้งนี้จาก ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 พบว่า ลูกหนี้ กยศ. ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย เป็นผู้ผิดนัดชำระถึง 2.3 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 65% ของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ทั้งหมด หรือมีมูลค่าเงินต้นที่ผิดนัดชำระถึง 90,856 ล้านบาท 

 

โดยที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า กยศ. เป็นกองทุนที่มีหนี้เสีย หรือ NPL สูงที่สุดในประเทศ หรือมี NPL คิดเป็นสัดส่วน 62% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2563)

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าวกองทุนให้กู้ยืมเพื่อศึกษา หรือ กยศ.

สำหรับ กองทุนที่ให้กู้ยืมเพื่อศึกษา หรือ กยศ. ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่หลายประเทศใช้ในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน โดยประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ “กยศ.” ขึ้นตั้งแต่ปี 2539 เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา 

 

โดยกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาผ่านการให้เงินกู้ยืมแก่เด็กใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียน
  2. เด็กที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาของประเทศ 
  3. เด็กที่ศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลนหรือที่กองทุนฯ มุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ 
  4. เด็กเรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ 

 

ภาพประกอบข่าวกองทุนที่ให้กู้ยืมเพื่อศึกษา หรือ กยศ.

ระยะแรก กยศ. ใช้งบประมาณจากรัฐในการให้กู้ยืม จนกระทั่งปี 2561 กยศ. สามารถปรับเป็นกองทุนหมุนเวียนเต็มรูปแบบ หรือใช้งบประมาณจากเงินตั้งต้นของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐ และมีการดำเนินงานในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน และนักศึกษาแล้ว รวมทั้งสิ้น 6.4 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 706,357 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) หรือคิดเป็นเงินให้กู้ยืมเฉลี่ย 1.1 แสนบาทต่อราย 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทุนฯ จะมีการดำเนินการสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังจากสำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพจากการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี เป็นจำนวนมาก

 

ภาพประกอบข่าวกองทุนให้กู้ยืมเพื่อศึกษา หรือ กยศ.

 

สศช. ระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ กยศ. เป็นจำนวนมาก ไม่เพียงส่งผลต่อลูกหนี้เท่านั้น แต่ยังส่งผลครอบคลุมถึงผู้ค้ำประกันอีกด้วย จากรายงานของ ธปท. ระบุว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของ กยศ. เกี่ยวข้องกับประชาชนถึง 6.4 ล้านราย 

 

ในจำนวนนี้มีผู้ถูกฟ้องร้องหรืออยู่ระหว่างบังคับคดีแล้วกว่า 1.5 ล้านราย ซึ่งทำให้หนี้ กยศ. กลายเป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง เช่น ลูกหนี้เสียเครดิตทางการเงิน ทำให้การขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินทำได้ยากขึ้น หรือประวัติมีมลทินจากเป็นบุคคลที่มีประวัติฟ้องร้องคดี เป็นต้น

 

ภาพประกอบข่าวกองทุนให้กู้ยืมเพื่อศึกษา หรือ กยศ.