นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)เปิดเผยว่า ยอดการชำระหนี้ของกยศ.มีแนวโน้มปรับลดลง หลังจากมีการพิจารณาแก้กฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ทำให้ผู้ชำระเงินเกิดความลังเล เนื่องจากรอความชัดเจนของกฎหมาย
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.- 30 พ.ย.65 พบว่า ยอดการชำระหนี้ในส่วนของผู้ที่สมัครใจลดลงไป 28% เหลือเพียงแค่ 2,075 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีความกังวลจากยอดชำระหนี้ที่ลดลง เนื่องจากกฎหมายเริ่มมีความจัดเจนแล้ว
ทั้งนี้ กฎหมายได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างรอการบรรจุวาระเข้าสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หากเห็นชอบก็สามารถนำมาประกาศบังคับใช้ได้ แต่หากไม่ได้เห็นชอบก็จะต้องมีการนำเข้าสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อหาข้อยุติประเด็นที่มีความเห็นต่างกันอีกครั้ง
ปัจจุบัน กยศ. ก็มีเงินกองทุนในระดับสูง เพียงพอต่อการปล่อยกู้ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐ โดยปัจจุบันมีสภาพคล่องอยู่ 3-4 หมื่นล้านบาท และปีที่ผ่านมาได้มีการชำระคืนเพิ่มขึ้นมาอีก 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการปล่อยกู้ เพราะเฉลี่ยแต่ละปี กยศ. มีการใช้เงินในการปล่อยกู้ 3-4 หมื่นล้านบาท
“เชื่อว่า หากกฎหมายมีความชัดเจน ผู้กู้ก็จะกลับมาชำระได้ปกติ เพราะปัจจุบัน กยศ. ก็คิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำ อีกทั้งยังมีมาตรการลดดอก เบี้ยปรับ สำหรับผู้กู้ที่มีการชำระหนี้ดี หรือผู้กู้ที่ต้องการปิดยอดหนี้”
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกยศ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กยศ. ได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 6.4 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีการศึกษา มีจำนวนนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกว่า 600,000 คน มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนทั่วประเทศกว่า 4,000 แห่ง