ชาวสวนเฮ กนย. เคาะ "ประกันรายได้ยางพารา" เฟส 4 วงเงิน 7,643 ล้าน (คลิป)

01 ก.พ. 2566 | 06:31 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2566 | 10:02 น.

กนย.ไฟเขียว ประกันรายได้ยางพารา เฟส 4 วงเงินกว่า 7,643 ล้านบาท เตรียมจ่าย 2 เดือนต.ค.-พ.ย. ก่อน ส่วนที่เหลือจะทยอยโอนให้ภายหลัง "อุทัย" เผยเข้าใจรัฐบาลดี เพราะตกในฐานะการเงินลำบาก

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้ (1 ม.ค.66) ที่ประชุม กนย. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่รายได้ลดลงจากที่เกษตรกรควรจะได้รับ และช่วยลดผลกระทบในการดำเนินชีวิต

 

 

 

"เงินที่จ่ายเกษตรกร มีแค่ 2 เดือน เท่านั้น คือเดือนตุลาคม –พฤศจิกายน  ส่วนเงินที่ได้ในครั้งต่อไปจะทยอยจ่ายต่อเมื่อรัฐบาลมีความพร้อม จึงอยากจะขอฝากถึงพี่น้องเกษตรกรตามมติผ่านหมดแล้ว คิดว่าผู้นำเกษตรกรที่เข้ามาพยายามที่จะเข้าใจสถานการณ์ของรัฐบาลมีไม่เพียงพอจึงจำเป็นที่จะต้องเห็นใจและผ่อนสั้นผ่อนยาว พี่น้องชาวสวนยางที่คอยรับเงิน คาดว่าจะจ่ายเดือน ก.พ.นี้" นายอุทัย ระบุ

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

ชาวสวนเฮ กนย. เคาะ \"ประกันรายได้ยางพารา\" เฟส 4 วงเงิน 7,643 ล้าน (คลิป)

โดยการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับ กยท. เมื่อในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย) คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่ ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว กำหนดราคาประกันผลผลิตยางแต่ละชนิด ดังนี้

  • ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม
  • น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาทต่อกิโลกรัม
  • ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาทต่อกิโลกรัม

โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565) งบประมาณโครงการฯ รวม 7,643,857,284 บาท

 

ชาวสวนเฮ กนย. เคาะ \"ประกันรายได้ยางพารา\" เฟส 4 วงเงิน 7,643 ล้าน (คลิป)

สอดคล้อง นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการ  กนย. เผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ผ่านความเห็นชอบแล้ว รอเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป แต่มีการชดเชยแค่เพียง 2 เดือน ตุลาคมและพฤศจิกายน 2565 เพราะงบประมาณมีน้อยแค่ 7,600 ล้านบาท

 

“ผมเสนอในที่ประชุมให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งทำการวัดแปลงและออกหนังสือสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ ในเขตทับซ้อนป่าไม้ ของพี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 400,000 ราย พื้นที่ประมาณ 5 ล้านไร่ เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ กรณี กฎหมาย Deforestation ของสหภาพยุโรป(EU)”

 

จากนั้นในวาระอื่นๆ ผมเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน ในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการทำสวนยางยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา เพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป

 

 

 

นายอุทัย กล่าวในตอนท้ายว่า กยท.จะต้องรีบทำงาน หลังผ่านการเห็นชอบจากจาก กนย. แล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยหน่วยงานการยางแห่งประเทศไทย จะเร่งดําเนินการจัดทํารายละเอียดโครงการฯ เพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด