นายดนุชา พิชยนันทน์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในงาน Beyond Tomorrow นวัตกรรม นำอนาคต เรื่อง ทิศทางการพัฒนาสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ว่า ขณะนี้ต้องเร่งหาทางส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงให้ได้ภายใต้แผนฯ 13
ทั้งนี้ในแนวทางการขับเคลื่อนเห็นว่า ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือขับเคลื่อนการวางแผนอนาคตประเทศด้วยกัน และ สศช. จะยืนยันแนวทางการดำเนินงานนี้กับทุกรัฐบาล และฝ่ายนโยบายว่า ประเทศไทยต้องเร่งเดินหน้าเรื่องนี้ พร้อมทั้งให้เลิกเน้นการทำนโยบายแบบระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนที่ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ไม่อย่างนั้นประเทศไทยคงจะต้องวนอยู่ในอ่าง และเสียโอกาสอย่างมาก
“ณ ตอนนี้ ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ซึ่งหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ต่างเอื้อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยทิ้งสิ้น โดยเฉพาะการดึงเอาอุตสาหกรรมใหม่ และนวัตกรรมมาลงในประเทศ เพื่อให้ไทยสร้างนวัตกรรมของตัวเองขึ้นมาได้ โดยเรื่องนี้คงต้องหารือและสร้างความเข้าใจกับทางฝ่ายนโยบายให้ยึดแนวทางนี้เอาไว้” นายดนุชา ระบุ
กำหนดกลไกการขับเคลื่อน
นอกจากการเตรียมความพร้อมในระดับนโยบายแล้ว สศช. ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางการส่งเสริมเอาไว้ในการขอใช้งบประมาณต่าง ๆ เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้เดินตามแผนที่ตั้งเอาไว้ และขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
เช่นเดียวกับการขอความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ โดยให้ความสำคัญกับกลไกความร่วมมือ 3 ส่วน ทั้งภาครัฐ ฝ่ายวิชาการ และชุมชน เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้า และของดีจากชุมชนไปสู่เชิงพาณิชย์ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนขึ้นมาได้ด้วย
ดึงมหาวิทยาลัยลงช่วยชุมชน
นายดนุชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้คุยหน่วยงานวิจัยของสศช.เองว่างานวิจัยส่วนใหญ่เป็นแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งทำขึ้นเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรม ต่อไปต้องนำงานวิจัยไปช่วยระดับชุมชน โดยให้หน่วยงานรัฐหรือ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ลงไปดูและทำงานร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ พัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้ได้มาตรฐาน และส่งออกไปยังตลาดเพื่อช่วยให้คนในพื้นที่มีรายได้ที่มั่นคง
สำหรับการลงไปในพื้นที่นั้น หน่วยงานภาควิชาการ จะมีบทบาทสำคัญในการนำงานวิจัยไปพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่การพัฒนาก็ที่ไม่ใช่แค่การแปรรูปข้าวสารเป็นข้าวหลาม หรือทำแชมพูเหมือนในอดีต แต่ต้องนำงานวิจัยผลผลิตต่าง ๆ ในท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่านั้น เช่น การดึงสารสกัดในพืชเพื่อใช้เชิงการแพทย์และสุขภาพ งานวิจัยเพื่อพัฒนาการปลูกพืชเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น
ส่วนช่องทางการจำหน่ายสินค้า ปัจจุบันมองว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะชาวบ้านส่วนมากสามารถนำสินค้าชุมชนลงไปขายผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้หลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้นหากมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดี มีมาตรฐาน รวมทั้งปรับปรุงแพ็คเกจให้น่าสนใจ เชื่อว่า สินค้าต่าง ๆ จะกลายเป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดได้อีกมาก
เลขาฯสภาพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่กังวลตอนนี้ว่าการขับเคลื่อนการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงของไทยจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่นั้น อยู่ที่เรื่องของบรรยากาศภายในประเทศ โดยตอนนี้ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในความขัดแย้งมานาน ถ้าสามารถใช้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ให้เกิดความสงบได้ เชื่อว่า ทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมายแน่นอน