สถานการณ์ด้านการจ้างงานของประเทศไทย แม้จะค่อย ๆ ปรับตัวฟื้นขึ้นมาได้บ้าง หลังจากผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากจากการระบาดจองไวรัสโควิด-19 มานานหลายปี โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการว่างงาน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่
แม้ว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสอง
โดยภาพรวมปี 2565 การจ้างงานและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 มีรายละเอียดดังนี้
การจ้างงาน : มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัว 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น 3.4% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการค้าส่งและค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต
สำหรับภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัว 3.4% จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และการย้ายสาขาของแรงงานชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 42.6 และ 46.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนกว่า 6.3 ล้านคน ขณะที่ผู้ว่างงานแฝงและผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่า 28% และ 19% ตามลำดับ
การว่างงาน : ปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.15% ซึ่งลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน สำหรับผู้ว่างงานระยะยาวมีจำนวนทั้งสิ้น 1.1 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.7%
ทั้งนี้ ในไตรมาสสี่ ปี 2565 ผู้ว่างงานที่เป็นเด็กจบใหม่มีจำนวน 2.3 แสนคน โดยในจำนวนนี้ 64.5% ระบุสาเหตุที่ว่างงานว่า หางานแล้วแต่ยังไม่ได้งาน สะท้อนให้เห็นการหางานที่ยากขึ้น
แนวโน้มตลาดแรงงาน ปี 2566
สำหรับแนวโน้มตลาดแรงงาน ปี 2566 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
1. การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความไม่แน่นอนสูง มีสาเหตุจากทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้การส่งออกเริ่มหดตัวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 และอาจส่งผลต่อการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการหางานของเด็กจบใหม่ เนื่องจากผู้ประกอบการอาจชะลอการจ้างงานเพิ่มและเลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานหรือเพิ่มหน้าที่ให้แก่แรงงานเดิม
2. ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง
แม้ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงานปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 5.02% และมีแนวโน้มที่จะยังคงสูงกว่าระดับปกติที่อยู่ในช่วง 1 – 2% เนื่องจากอิทธิพลจากภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามระหว่างประเทศ
3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว
จากผลสำรวจของกระทรวงแรงงาน พบว่า ปัจจุบันกิจการประเภทโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณ 1 หมื่นตำแหน่ง ใน 60 จังหวัด ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 28 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562
โดยภาครัฐยังคงต้องมีบทบาทในการจับคู่แรงงานกับสถานประกอบการ รวมถึงพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานให้ตอบโจทย์ตำแหน่งงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น