ศึกหนัก กทม. ผ่าทางตันหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 5 หมื่นล้าน

14 มิ.ย. 2566 | 07:14 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2566 | 09:55 น.

กทม.เร่งผ่าทางตัน สางปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 5 หมื่นล้านบาท หลังถกบีทีเอส เตรียมจ่ายหนี้ติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท หนุนเอกชนให้บริการเดินรถประชาชนต่อเนื่อง

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ยังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงไม่หยุด ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที คู่สัญญาของเอกชน ยังไม่มีทีท่าจะเริ่มชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) กว่า 50,000 ล้านบาท แก่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด

 

ล่าสุดโครงการฯนี้เริ่มส่งสัญญาณในทางที่ดีแก่เอกชนบ้างแล้ว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เชิญนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เบื้องต้นจากการหารือในครั้งนี้ บีทีเอสได้หารือถึงกรณีค่าจ้างติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ครบกำหนดชำระ ประมาณ 20,000 ล้านบาท 
 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ทางกทม.จะเร่งดำเนินการใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1. เรื่องที่กรุงเทพธนาคม (เคที) ไปจ้างบีทีเอสเดินรถ ซึ่งขณะนั้น กทม. มอบหมายให้เคทีเป็นผู้ดำเนินการ โดยขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการได้คือ ต้องให้สภา กทม. อนุมัติก่อน 2. หากจะชำระหนี้ต้องนำเงินที่สะสมมาชำระ ซึ่งในสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะต้องพิจารณาทั้ง 2 เรื่องนี้ด้วย

 

ทั้งนี้ภายในเดือนกรกฎาคม 2566 กทม.เตรียมเสนอต่อสภากทม. พิจารณา ขอชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ก้อนแรกที่กทม.จะชำระให้แก่บีทีเอส เนื่องจากครบกำหนดชำระแล้ว   
 

“ที่ผ่านมากทม.ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญกทม.ศึกษาและประชุมมาแล้ว  5 ครั้ง เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความรอบคอบ คาดว่าเปิดการประชุมสภากทม. สมัยหน้า ก็สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.ได้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร”

 

นายชัชชาติ ระบุอีกว่า กทม.จะติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลในหลายประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทยในหลายประเด็น ดังนี้ 1.อยากให้รัฐบาลสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานกับค่าจ้างติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) เนื่องจากเมื่อครั้งที่ ม.44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย 

 

2. เรื่องที่ค้างอยู่ตาม ม. 44 เกี่ยวกับมูลหนี้ที่จะพิจารณาในเงื่อนไขให้สัญญาสัมปทานใหม่ ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ เบื้องต้นกทม.ต้องสอบถามและเร่งรัดทาง ครม. ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร

ศึกหนัก กทม. ผ่าทางตันหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 5 หมื่นล้าน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ได้หารือร่วมกันในวันนี้ เป็นเรื่องของค่าจ้างการติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่ครบกำหนดการชำระไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 คาดว่าเรื่องนี้ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน
 
“ที่ผ่านมาบริษัทต้องแบกรับภาระหนี้มาถึง 4 ปี กับก้อนหนี้กว่า 50,000 ล้านบาท เพราะหากเป็นเอกชนรายอื่นคงหยุดเดินรถไฟฟ้าไปแล้ว แต่เราเข้าใจผู้โดยสารที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น จึงบริหารโครงการอย่างเต็มความสามารถ และต้องหาเงินทุนจำนวนมากมาบริหาร เพื่อไม่ให้กระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้โดยสาร แต่หากวันหนึ่งเราไม่สามารถเดินรถได้ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็คงเป็นไปตามเหตุและผลที่เกิดขึ้นจริง ส่วนกระบวนการชำระหนี้ คงต้องดำเนินการตามข้อกฎหมายและกระบวนภายในของกทม. แต่จะจ่ายในรูปแบบไหน หรือจ่ายยังไง ยังไม่ได้มีการพิจารณา”

 

ด้านความคืบหน้าการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2  ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 1 วงเงิน 11,755 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ที่กทม.ได้ยื่นต่อศาลปกครอง หลังจากก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาให้กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จํากัด (เคที)  ร่วมกันจ่ายหนี้ให้กับบีทีเอสซี คาดว่าจะได้ความชัดเจนประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้

 

 ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2  ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 2 วงเงิน 11,068 ล้านบาท ปัจจุบันทางบีทีเอสซีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้ชำระหนี้ไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ ส่วนหนี้ที่เหลือและหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการเดินรถ จะมีการดำเนินการตามขบวนการต่อไป
 
ส่วนกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับพวกรวม 13 คน รวมถึง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555

 

พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ทางบีทีเอสได้เคยชี้แจงไปแล้วอย่างชัดเจน และได้ยื่นหนังสือไปยัง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการหาตัวผู้กระทำผิด ที่ปล่อยให้มีเอกสารภายในหลุดออกมา ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และราคาหุ้นของบริษัทฯ 

 

“ขณะนี้เวลาผ่านไป 3 เดือนแล้ว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้เราได้ส่งเรื่องให้ทีมกฎหมายดำเนินการแล้ว เรายืนยันในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและสุจริต แต่ถ้ามีการกระทำใดที่ไม่ตรงไปตรงมาและส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วย เราคงต้องต่อสู้ตามกระบวนการ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะดำเนินการฟ้องต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ด้วย”

 

หลังจากนี้กทม.ต้องรับศึกหนักหลายด้านทั้งภาระหนี้สินที่ค้างชำระแก่บีทีเอส อีกทั้งยังไม่มีท่าทีจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เนื่องจากยังไม่ได้มีการรับโอนหนี้จากการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หากกทม.แบกรับหนี้ในส่วนนี้เพิ่มจะทำให้กทม.มีภาระเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน คงต้องจับตาดูว่ากทม.จะสามารถล้างหนี้ได้ตามที่รับปากกับบีทีเอสได้หรือไม่