BEM ลุ้นรัฐบาลใหม่เคาะลงนาม"รถไฟฟ้าสายสีส้ม"

23 ส.ค. 2566 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2566 | 11:53 น.

BEM ลุ้นรัฐบาลใหม่ไฟเขียวเซ็นสัญญา "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" มั่นใจเข้าพื้นที่ปลายปีนี้ ลุยเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายใน 3 ปีครึ่ง เตรียมจ่อประมูลเพิ่ม 3 เมกะโปรเจ็กต์รัฐ

นายธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการส่วน ส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรีนั้น ยังคงอยู่ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีเข้ามาศึกษาเงื่อนไข – ร่างสัญญาตามผลการประมูลฯ หากสามารถลงนามสัญญาได้ภายในไตรมาส 4/2566 นี้ บริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินงานได้ภายในช่วงปลายปี 2566 ยังคงคาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรีได้ภายในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง

 

ส่วนโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 งามวงศ์วานพระราม 9 (Double Deck) นั้นปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2567

“ทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินงานทันทีที่ภาครัฐ ลงนามสัญญาจัดซื้อ-จัดจ้างสำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกนั้น จะเร่งดำเนินงานเพื่อให้เปิดให้บริการได้โดยเร็วที่สุด โดยอาจทยอยเปิดให้บริการเป็นช่วงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกขึ้น ส่วนทางด่วนขั้นที่2 คงใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพราะเป็นการก่อสร้างซ้อนบนทางด่วนที่ให้บริการอยู่ ณ ปัจจุบัน”

 

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมองหาโอกาสเติบโตเพื่อสร้าง New S-curve ใหม่ จึงเตรียมศึกษาเพื่อเข้าร่วมประมูลงานโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐบาลอย่างต่อเนื่องโดยจะยังคงเน้นงานที่กลุ่มบริษัทมีความชำนาญ และสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ชะอำ หรือ M8 ช่วงแรก นครปฐม-บางแพง (วังมะนาว)

2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือ M9

 

3.โครงการมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19 กิโลเมตร จุดเด่นของโครงการนี้ คือแนวสายทางจะเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษ สายศรีรัช ซึ่งบริษัทเป็นผู้บริหารจัดการอยู่

 

นายธนาวัฒน์ กล่าวต่อว่า บริษัทคาดการณ์ผลการดำเนินงานช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (2H/66) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั้งธุรกิจทางด่วน ซึ่งปริมาณการใช้ทางด่วนพิเศษนอกเมืองส่วน C และ Dยังสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งตามความต้องการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมือง และปริมาณผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง, ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนการขยายพื้นที่เชิงพาณิชย์ (เมโทร มอลล์) ภายในสถานีรถไฟฟ้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสถานีลาดพร้าว

 

 “รายได้จากการให้เช่าพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าเพื่องานบริการระบบโทรคมนาคม, พื้นที่เช่า และโฆษณาเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทยังมีแผนขยายพื้นที่เมโทรมอลล์ตามสถานีที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง”

 

ทั้งนี้แนวโน้มผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2566 มีแนวโน้มเติบโตทั้งเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 2/2566 (QoQ) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สะท้อนจากปริมาณผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ช่วงวันทำงานที่เร่งตัวแตะ 4.8 – 5 แสนเที่ยวคนต่อวัน เติบโตต่อเนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ปริมาณผู้โดยสารวันทำงานที่ราว 4.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน ขณะที่ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 1.2 – 1.4 ล้านคันต่อวัน

 

นายธนาวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุนเพิ่มปริมาณตู้โดยสารในขบวนรถไฟฟ้า จากปัจจุบัน 3 ตู้ต่อ 1 ขบวนเป็น 4 ตู้ต่อ 1 ขบวนกรณีที่ปริมาณผู้โดยสารเร่งตัวแตะราว 6 แสนเที่ยวคนต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

 

“ขณะนี้บริษัทมีรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 54 ขบวน รวม 162 ตู้โดยสาร สามารถรองรับความต้องการเดินทางของประชาชนในชั่วโมงเร่งด่วนได้อย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันบริษัทได้ศึกษาแผนการเพิ่มตู้โดยสารเป็น 4 ตู้ต่อรถไฟฟ้า 1 ขบวนหากผู้โดยสารเร่งตัวแตะ 6 แสนเที่ยวคนต่อวันเพื่อสนับสนุนความต้องการเดินทางที่เร่งตัวขึ้น ตามการขยายตัวของโครงข่ายรถไฟฟ้าในอนาคต”