เอกสารลับธปท. เตือน ครม. พักหนี้เกษตรกร ไม่ยั่งยืน สร้างวังวนหนี้เรื้อรัง

29 ก.ย. 2566 | 02:41 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 04:34 น.

เปิดเอกสารลับ ธปท. เตือน ครม. มาตรการพักหนี้เกษตรกร เป็นการช่วยเหลือไม่ตรงจุด ส่งผลต่อวินัยทางการเงิน เกิดปัญหา moral hazard ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เรื้อรังมากขึ้น

กรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยเป็นเวลา 3 ปี ตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับลูกหนี้ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท มีลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการกว่า 2.69 ล้านราย โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยภาระดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.วงเงิน 11,096 ล้านบาท และอีก 1,000 ล้านบาท ใช้ในโครงการการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบพบว่า ในการประชุมครม. วันที่ 26 กันยายน 2566 ก่อนที่ครม.จะอนุมัติมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีหนังสือ “ลับ” เสนอความเห็นธปท. ประกอบการพิจารณามาตรการพักชําระหนี้เกษตรกรให้ที่ประชุมครม.พิจารณาด้วย

หนังสือลับธปท.ฉบับดังกล่าว แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการพักชําระหนี้เกษตรกรที่เสนอต่อ ครม. ว่า แม้ว่ามาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรในในครั้งนี้ จะแตกต่างจากการพักหนี้ ที่ผ่านมาในบางประเด็น แต่มีส่วนที่ ธปท. ยังมีข้อกังวล เนื่องจากแนวทางในภาพรวมอาจยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ใน 3 ประเด็น

เอกสารธปท.เตือนพักชำระหนี้เกษตรกร

ประเด็นที่ 1 : การพักชําระหนี้ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลักของรัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรทุกกลุ่ม จากสถานการณ์หนี้ในปัจจุบัน รัฐควรให้ความสําคัญกับการแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มหนี้เรื้อรังที่มีจํานวนกว่าครึ่งของลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่มีภาระหนี้สูงจนไม่สามารถชําระหนี้เพื่อลดต้นเงิน และไม่สามารถแก้ไขหนี้ด้วยตนเองได้ ซึ่งยังไม่มีนโยบายช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม (policy gap)

ประเด็นที่ 2 : การพักชําระหนี้ในครั้งนี้เป็นการพักหนี้แบบวงกว้าง ดังนั้นภายใต้งบประมาณที่จํากัด รัฐจึงกําหนดกลุ่มเป้าหมายตามยอดหนี้คงค้างไม่เกิน 300,000 บาท ทําให้การช่วยเหลือไม่ตรงจุด ทําให้รัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มลูกหนี้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุม

ประเด็นที่ 3 : การพักหนี้โดยไม่มีกลไกจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพยังชําระหนี้ต่อเนื่อง จะส่งผลต่อวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ทําให้ลูกหนี้ที่เคยมีพฤติกรรมชําระหนี้ดีอาจหยุดชําระหนี้ เกิดปัญหา moral hazard ช่วยให้ลูกหนี้ตกอยู่ในวังวนหนี้โดยไม่จําเป็น และกลายเป็นหนี้เรื้อรังมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นภาระของภาครัฐและ ธ.ก.ส. ในระยะข้างหน้า

หนังสือลับธปท. ระบุว่า มาตรการพักชําระหนี้ในครั้งนี้ ธปท. เห็นว่าควรพิจารณาแนวทางดําเนินการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาหนี้เกษตรกรเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น ดังนี้

1. กําหนดแนวทางแก้ไขหนี้จะต้องสอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม โดยควรให้ความสําคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ที่การพักหนี้จะยิ่งทําให้ความเป็นหนี้เรื้อรังยืดเยื้อขึ้น แต่ควรส่งเสริมให้ ธ.ก.ส. ปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพลูกหนี้อย่างทั่วถึง รวมทั้งรัฐควรมีมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ที่ทําให้ลูกหนี้สามารถลดภาระหนี้ได้ในระยะยาว

2. การพักหนี้ในครั้งนี้ ควรมีกลไกสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพยังชําระหนี้ต่อเนื่อง โดยออกแบบมาตรการที่ให้ผลตอบแทนแก่ลูกหนี้มากพอที่จะยังชําระหนี้ต่อ ซึ่งอาจทําได้ โดย หากลูกหนี้ชําระหนี้ระหว่างเข้าร่วมมาตรการให้ตัดชําระต้นทั้งจํานวน และรัฐอาจมีมาตรการ จูงใจเพิ่มเติม เช่น การให้เงินสมทบเพิ่มเติมเป็นสัดส่วนของการชําระหนี้ เป็นต้น

3. การพักหนี้ในครั้งนี้ ควรเป็นการพักระยะสั้นเพียง 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมสําหรับ การดําเนินมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มในระยะต่อไป โดยในระหว่างพักชําระหนี้ต้องกําหนดให้ ธ.ก.ส. ประเมินความสามารถในการชําระหนี้ของลูกหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้เฉพาะรายให้แก่ลูกหนี้ ทุกรายให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดระยะเวลาพักชําระหนี้ในปีแรก รวมถึงจัดเตรียมแนวทางและระบบงาน สําหรับดําเนินมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาได้อย่างทั่วถึงในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อป้องกัน คุณภาพสินเชื่อที่อาจกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพเฉียบพลัน (NPL cliff effect) หลังสิ้นสุดมาตรการ

4. การพักหนี้ในครั้งนี้จะสัมฤทธิ์ผลได้ รัฐจะต้องให้ความสําคัญกับการประชาสัมพันธ์ และสื่อสารทําความเข้าใจกับลูกหนี้ถึงเจตนารมณ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างชัดเจน ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ประเด็นหลัก ที่แตกต่างออกไปจากมาตรการในอดีต ได้แก่ 1. เกษตรกรต้องสมัคร เข้าร่วมโครงการ และต้องดําเนินการตามเงื่อนไขที่กําหนด 2. เมื่อเกษตรกรเข้าโครงการรัฐยังสนับสนุน ให้ลูกหนี้ยังชําระหนี้โดยมีมาตรการจูงใจ โดยการสื่อสารต้องทําให้ชัดเจนตั้งแต่ การประกาศนโยบายในวงกว้างจากรัฐบาล การสื่อสารมาตรการของ ธ.ก.ส. ไปยังประชาชนและพนักงานสาขาของ ธ.ก.ส. รวมถึง พนักงานสาขา ธ.ก.ส. จะต้องชี้แจงและให้ข้อมูลที่ครบถ้วนต่อลูกหนี้ที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการเพื่อให้ลูกหนี้สามารถวางแผนบริหารจัดการหนี้ได้อย่างเหมาะสม

5. กําหนดแผนการติดตามและประเมินประสิทธิภาพโครงการอย่างต่อเนื่อง และรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจํา เพื่อประเมินผลสําเร็จของโครงการ ความคุ้มค่าของงบประมาณ รวมทั้ง ติดตามการฟื้นฟูการประกอบอาชีพของลูกหนี้ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการหรือไม่ เช่น การติดตามว่าเม็ดเงินที่รัฐได้ช่วยลดภาระการชําระหนี้ให้แก่เกษตรกร รวมถึงสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบ อาชีพที่มีการตั้งวงเงินเพิ่มเติมนั้น ได้นําไปลงทุน ปรับเปลี่ยน หรือขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นตามเป้าประสงค์ของโครงการหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทบทวนรายละเอียดของโครงการในระยะต่อไป