เกษตรกร NPL ไม่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อน “พักหนี้” ได้เลย

27 ก.ย. 2566 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2566 | 12:06 น.

คลังแจงพักหนี้เกษตรกร ลูกค้า NPL ไม่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อน เข้าร่วมมาตรการได้เลย พร้อมสร้างแรงจูงใจกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ รัฐช่วยจ่ายดอกเบี้ยชดเชยย้อนหลังให้ 3 เดือน รับสิทธิชำระหนี้ตัดเงินต้น 100

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการพักหนี้เกษตรกร สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น หากมียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท ได้รับสิทธิเข้าร่วมมาตรการทุกราย โดยท่านสามารถเดินทางไปลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีลูกหนี้เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวอยู่ 6 แสนราย

“เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ทุกราย ที่มีมูลหนี้ทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 3 แสนบาท สามารถเข้าสู่โครงการพักการชำระหนี้ได้ รวมถึงลูกหนี้ที่เป็น NPL ด้วย ก่อนหน้านี้อาจมีความเข้าใจผิดว่า ลูกหนี้ ธกส.ที่เป็น NPL จะต้องผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ให้กลายเป็นหนี้ดีก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่โครงการพักการชำระหนี้ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง”

ทั้งนี้ หากลูกหนี้ NPL เข้าร่วมมาตรการพักหนี้แล้ว และมีการปรับโครงสร้างหนี้ กลับมามีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติรัฐบาลจะมีการชดเชยดอกเบี้ยย้อนหลังให้ 3 เดือน ขณะเดียวกัน ได้มีการสร้างแรงจูงใจให้ชำระหนี้เพื่อลดภาระหนี้สินของเกษตรกร โดยหากมีการชำระหนี้จะได้รับการตัดเงินต้นทันที 100% โดยไม่นำไปตัดในส่วนของดอกเบี้ย 

“ระหว่างการเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของลูกค้า NPL จะทำให้ลูกค้าได้เข้ามาหารือร่วมกับธ.ก.ส. และธนาคารจะมีการเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ากลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ ในส่วนนี้ก็เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับธ.ก.ส.ช่วยแก้หนี้ลูกค้าด้วย เพราะหากลูกหนี้กลับมาปกติ ธ.ก.ส.ก็จะได้รับเงินชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐ 3 เดือน”

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ระยะต่อไปจะมีการพักหนี้ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นาน 1 ปี กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรหัส 21 ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มูลหนี้รวมกว่า 3 แสนล้านบาท มีทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าสถาบันการเงินของรัฐ และลูกค้าธนาคารพาณิชย์ 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนแบงก์รัฐนั้น รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้แน่นอน แต่ในฝั่งของลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์จะมีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินมาตรการพักหนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากันอยู่ว่า  จะพักการชำระเงินต้นเพียงอย่างเดียว หรือทั้งต้นและดอกเบี้ย

“การพักการชำระหนี้เอสเอ็มอีจะเน้นไปที่ลูกค้าที่อยู่ในสถาบันการเงินของรัฐเป็นหลัก ส่วนลูกค้าที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์เอกชน จะเป็นการขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ โดยจะต้องประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย”