"เงินดิจิทัล 10000 บาท" นโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นับตั้งแต่วันที่นายเศรษฐา ประกาศเสียงดังฟังชัดในการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ว่า
"เบื้องหลังก็ได้ประสานกับหน่วยงานทุกหน่วยงาน เพื่อให้นโยบายนี้ออกมาโดยเร็ว ยืนยัน จะแจกเงินหนเดียว และคิดว่าจะทำได้ภายใน 1 ก.พ.2567 พร้อมย้ำว่า ไม่มีเวลาฮันนีมูน และวันนี้ได้ถวายสัตย์ฯ แล้ว หลังจากนี้ก็ต้องทำงานต่อ"
ซึ่งหลังจากนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 และได้ประชุมนัดแรก โดยมีนายเศรษฐา เป็นประธานการประชุม ไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะอนุกรรมการ
ถัดมาวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ได้ประชุมคณะอนุกรรมการโครงการฯ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า
“ตั้งเป้าไตรมาส 1 ปีหน้าต้องทำนโยบายนี้ให้สำเร็จ อย่างไรก็ตามยังเน้นย้ำเรื่องความรอบคอบ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการบ่อยขึ้น โดยจะคุยเรื่องเงื่อนไข หลักเกณฑ์ กลไกตรวจสอบ แหล่งเงิน การป้องกันการทุจริต และการประเมินผลโครงการเป็นสำคัญ และขอให้หน่วยงานทั้งสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ร่วมให้ความเห็นและประเมินความคุ้มค่าตั้งแต่ก่อนและหลังทำโครงการ” นายจุลพันธ์ กล่าว
ล่าสุด 23 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ได้เปิดเผย ถึงการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10000 บาทว่า เรื่องนี้ถือว่ามีความจำเป็นตามกฎหมาย ไม่สามารถลัดวงจรได้ ไม่สามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยที่ยังไม่มีมติจากคณะกรรมการได้ และจากการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการสั่งการหรือกำชับอะไรเป็นพิเศษ และยังตอบไม่ได้ว่าการประชุมคณะอนุกรรมการฯจะเกิดขึ้นเมื่อใด
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก “Sirikanya Tansakun – ศิริกัญญา ตันสกุล” ตั้งคำถามต่อนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ว่า ถึงทางตันหรือไม่ พร้อมระบุถึง พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และพ.ร.ฎ.กำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคาร ของธนาคารออมสิน 2553 มาตรา 3 ที่ปิดช่องไม่ให้รัฐบาลกู้เงินได้
พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 มาตรา 7 ระบุว่าให้จัดตั้งธนาคารออมสินขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจ ดังต่อไปนี้
พ.ร.ฎ. กำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคาร ของธนาคารออมสิน 2553 มาตรา 3 ระบุว่า กิจการอันพึงเป็นงานธนาคาร ที่ธนาคารออมสินพึงประกอบได้ มีดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา ยังได้ระบุถึง งบประมาณ ปี 2567 ด้วยว่า ในวงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท เป็นงบที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริง 476,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประจำที่ต้องใช้ร่วมกัน 20 กระทรวง หากใช้ไปกับนโยบายแจกเงิน ดิจิทัล 10000 บาท ก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการอื่นๆได้ เช่น กองทุน soft power ,กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หรืองบอุดหนุนดับไฟป่าแก้ PM 2.5 เป็นต้น
พร้อมทิ้งท้ายว่า ทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็นพรก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัดๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตามรธน. ดังนั้น เงินดิจิทัล 10000 บาท จึงอาจจะถึงทางตันจริงๆ
ติดตามชมรายการ THANTALK ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.10 - 12.00น. ช่องเนชั่นทีวี 22