กรณีโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ยังรอความชัดเจนจากคณะกรรมขับเคลื่อนนโยบายอยู่นี้ ได้เกิดข้อห่วงใย และข้อสังเกตจากหลายภาคส่วน ทั้งจากสส. ,สว. ,นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ แม้แต่อนุกรรมการขับเคลื่อนฯเองก็ตาม
ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยนายเกียรติ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ประการ ต่อการดำเนินนโยบายนี้
เนื่องจากการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ศ. 2485 ,พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เป็นต้น
นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องมีความชัดเจนว่าดำเนินโครงการไปเพื่ออะไร หากเป็นการแจกเงินให้ทุกคนเท่ากันจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะเงิน 10,000 บาท มีความหมายอย่างมากกับผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ถือเป็นเงินเพียงจำนวนน้อยสำหรับคนมีรายได้มาก
ถ้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในจำนวนเท่ากันทุกคน จึงถือว่าเพิ่มความเหลื่อมล้ำในทันที ตรงกันข้ามหากแจกเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน แม้จะแจกคนละ 20,000 บาท ก็ยังเป็นการตอบโจทย์มากกว่า เช่น ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจไม่ดี รายได้น้อย ข้าวของราคาแพง การได้รับเงินดิจิทัล จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มนี้
แต่หากแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับทุกคนทั้งคนจน และคนรวย จำเป็นต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดยืนยันได้ว่า ผลตอบแทนที่ได้จากโครงการนี้จะเท่าทุนกับงบประมาณที่ใช้ลงไป เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่มากขึ้นได้จากการกระจายเงินในลักษณะนี้
เนื่องจากการใช้เงินไปกับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จะได้จำนวนรอบของการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจไม่มาก แตกต่างจากห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) อื่นๆเช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องมีการซื้อวัสดุและการจ้างงานมีซับพลายเชนสายยาว
มีความจำเป็นอย่างไร ที่จะต้องของจ่ายเป็นเงินดิจิทัล ซึ่งแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" มีความพร้อมในการใช้งานอยู่แล้ว และการใช้ระบบบล็อกเชน มีข้อจำกัดหลายประการ เช่นพื้นที่ขอบเขตการใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันธนาคารขนาดใหญ่ระดับโลกหลายธนาคารปฏิเสธการทำธุรกรรมด้านนี้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดรองรับ เสี่ยงกับการใช้เป็นช่องทางของการฟอกเงินระหว่างประเทศ
นายเกียรติ แนะนำว่าสามารถพิจารณาจากเงินฝากในบัญชีเงินฝากของประชาชนได้ หากมีไม่ถึง 10,000 บาท ก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่ประชาชนได้เลย ส่วนประชาชนที่ไม่มีบัญชีเงินฝาก รัฐบาลควรดำเนินการเปิดบัญชีให้แก่ประชาชนเพื่อรับเงิน
และแม้ว่าประชาชนจะนำเงินสดเรานั้นไปชำระหนี้สินก็ตาม ก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนเนื่องจากภาระหนี้สินที่ประชาชนแบกรับอยู่นั้นอาจเป็นปัญหาใหญ่ของคนผู้นั้น ในขณะที่เจ้าหนี้ที่ได้รับเงินไปก็สามารถนำเงินเหล่านั้นไปจับจ่ายใช้สอยได้
นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในแง่มุมของการมี BIG DATA นั้น นายเกียรติ เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ไม่ใช่มุ่งเก็บข้อมูลส่วนบุคคลด้านการเงินของประชาชน
และรัฐบาลมีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร หน่วยงานใดจะเป็นผู้กำกับดูแล เพราะในปัจจุบันมีการนำข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลของประชาชนไปใช้แสวงหาผลประโยชน์เป็นจำนวนมาก รวมถึงการนำข้อมูลเหล่านี้ไปกระทำความผิดในต่างประเทศ ซึ่งยากต่อการติดตามจับกุม ดำเนินคดี
สุดท้ายของการสนทนา นายเกียรติเน้นย้ำไปยังรัฐบาลว่า เงินงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายกฯ แต่เป็นเงินที่ต้องกู้ยืมมาดำเนินโครงการซึ่งตกเป็นภาระหนี้ของทุกคนในประเทศ จึงควรนำไปใช้ในการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
เศรษฐกิจประเทศไทยในขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันว่าไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่ควรจะต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐาน เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ส่วนต่างของดอกเบี้ย ราคาพลังงาน ให้เป็นธรรม ไม่ใช่เพียงนำเงินไปอุดหนุนชดเชย
รวมถึงความไม่ชัดเจนอีกหลายประการ เช่น กติกาการใช้จ่ายเงินดิจิทัล แม้แต่การที่นายกฯ เคยระบุว่า ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคน สามารถนำเงินดิจิทัล ที่ได้รับ ไปลงทุนได้ ในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร ลงทุนกับใคร ที่ไหน สามารถเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้หรือไม่