วันที่ 11 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา เป็นประธานที่ประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล เรื่องกรณีการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ ถาม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า
การขึ้นค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกลับภาวะความเป็นจริง ใช้วิธีคิดอะไรมาคำนวณ และต้องยอมรับในอดีตที่ผ่านมาการขึ้นค่าแรงจะมีการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองมาตลอด จนเป็นวาระทางการเมือง จนคณะกรรมการไตรภาคีไม่มีอำนาจจริง และถ้าคณะการไตรภาคีสามารถทำอะไรได้ ก็ควรยุบทิ้งหรือไม่ และหากรัฐบาลส่งเสริมนโยบายการมีบุตร ดังนั้นการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ ให้สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพเลี้ยงครอบครัวได้ ควรพิจารณาให้สอดคล้องกัน
นายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า วิธีการคิดกับการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำตลอดเวลา 20-30 ปี เราใช้ฐานเดิมมาตลอด เราไม่สามารถใช้ค่าแรงได้สูงว่าที่ประกาศไปแล้ว ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหญ่ ที่จะมีการแต่งตั้งในวันที่ 17 ม.ค.นี้ ซึ่งมีฝ่ายของรัฐและนักวิชาการ
ส่วนตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง 5 คน นายจ้าง 5 คนเหมือนเดิม เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงของสภาพปัจจุบันแล้วนำมาเป็นสูตรในการคำนวณอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ เราจะประกาศค่าแรงขึ้นต่ำได้ใน บางพื้นที่ บางอาชีพ บางประเภท บางสาขาได้ คาดว่าจะประกาศค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญวันสงกรานต์ได้ และขอเวลา 1 ปีในการที่จะประกาศค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศในปี 2568
รมว.แรงงาน กล่าวยืนยันว่าในคณะกรรมการไตรภาคี เป็นการเลือกกันเองของลูกจ้างและนายจ้าง กระทรวงแรงงานไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ ส่วนขั้นตอนการเลือกโดยไม่มีสหภาพแรงงานนั้นผมจะขอไปสอบถามให้อีกครั้ง แต่ตนไม่มีสิทธิเข้าไปร่วมการประชุมไตรภาคี เพราะจะถูกมองว่าแทรกแซงการพิจารณา แม้จะเข้าไปทีแรก ก็เพื่อจะแนะนำตัวเท่านั้น
นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาขอให้ผ่านไป ไม่ใช่ปัดสวะ แต่ที่ผ่านมาคงแก้ไขอะไรไม่ได้ ต่อไปจะหารือประธานบอร์ด และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ไม่สามารถหารือกับฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างได้ โดยตนจะดูแลให้ความเห็นกับที่ปรึกษากรรมการ ว่าอะไรควรหรือไม่ ส่วนรายละเอียดเจาะลึก จะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อาชีพที่ไม่มีจะขึ้นค่าแรงตามอัตภาพ หรืออัตราส่วน สำหรับค่าแรง 3 จังหวัดภาคใต้ ที่อัตราสูง อาจไม่มีผู้ลงทุนในพื้นที่เพราะต้องมีค่าเสี่ยงภัย
ส่วนค่าแรงของผู้มีบุตรนั้นตนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาการจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนสำหรับผู้ที่ลาคลอดบุตร 98 วัน โดยให้นายจ้างอุดหนุนเงินเดือน 49 วัน และสำนักงานประกันสังคม จ่ายเงิน 49 วัน ซึ่งจะได้รับเงินเดือนเต็มในช่วงที่ลาคลอด