สถาบันป๋วย เตือนนโยบายกระตุ้นสร้างหนี้ ระวังฉุดเศรษฐกิจทรุดยาว

21 ก.พ. 2567 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2567 | 09:49 น.

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย เตือน เศรษฐกิจทรุดระยะยาว จากนโยบายส่งเสริมก่อหนี้ครัวเรือนใหม่ ชี้ ความสามารถชำระหนี้ที่ด้อยลง สวนทางการก่อหนี้ และรายได้ เหมือน "ระเบิดเวลา" ระบบเศรษฐกิจ

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจากการเปิดเผยของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) พบว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2566 บนฐานข้อมูลของเครดิตบูโร รวมทั้งสิ้น 13.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ 90% ต่อจีดีพี ถือเป็นระดับอันตราย เนื่องจากระดับมาตรฐานสากลหนี้ครัวเรือนควรอยู่ที่ไม่เกิน 80% ของ จีดีพี

สถาบันป๋วย เตือนนโยบายกระตุ้นสร้างหนี้ ระวังฉุดเศรษฐกิจทรุดยาว

นายสุพริศร์ สุวรรณิก หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่บทความเรื่อง "หนี้ครัวเรือนส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ" ระบุถึงผลกระทบของหนี้ครัวเรือนว่า หากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลง ในขณะที่การก่อหนี้เร่งตัวมากขึ้น และเร็วกว่ารายได้ อาจก่อให้เกิดหนี้เสียลามไปทั้งระบบเศรษฐกิจ เปรียบเหมือน "ระเบิดเวลา" ที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ซึ่งผลกระทบของหนี้ครัวเรือน แบ่งออกเป็น 2 ช่องทางดังนี้

1. ช่องทางระดับหนี้ (debt level channel) ซึ่งมักสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือ debt ratio โดยระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ครัวเรือนสามารถอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นได้ และส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้นผ่านการบริโภคภาคเอกชนที่มากขึ้น

2. ช่องทางภาระหนี้ (debt service channel) ซึ่งมักสะท้อนจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ครัวเรือน หรือ debt service ratio โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับภาระหนี้ที่ต้องชำระคืน มีผลให้ครัวเรือนต้องนำรายได้มาใช้คืนหนี้ที่ก่อนั้น แทนที่จะสามารถนำรายได้ไปใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการต้องลดการอุปโภคบริโภคในสินค้าจำเป็นหรือสินค้าไม่คงทน ซึ่งมักมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการบริโภคทั้งหมด และจะส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

หนี้ครัวเรือน กระทบเศรษฐกิจอย่างไร

นั่นหมายความว่าผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะให้ผลทางบวกในระยะสั้น แต่กลับส่งผลทางลบในระยะยาว ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายจึงจำเป็นต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักให้ดี หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายที่เอื้อต่อการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ ผลงานวิจัย Muthitacharoen et al. (2015) ได้ศึกษาข้อมูลของประเทศไทยระหว่างปี 2009–2013 พบว่าการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อการบริโภคสินค้าไม่คงทนของครัวเรือน โดยครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงขึ้น จะทำให้การบริโภคยิ่งลดลง

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย Suwanik & Peerawattanachart (2018) ที่เป็นการศึกษาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยระหว่างปี 2000 – 2017 พบว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลทางบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่หากถึงจุดที่ครัวเรือนไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ มักเกิดขึ้นในระยะเวลาเกิน 4 ปีขึ้นไป จะส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยภาระหนี้ที่ต้องใช้คืนของครัวเรือน (debt overhang) เป็นสำคัญ

ที่มา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์