นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ทีมพาณิชย์ ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เร่งทำการค้าเชิงรุก สำรวจสถานการณ์การค้า และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย
โดยล่าสุดได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ ณ กรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ ถึงโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าในกลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบจากไทย โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันพบว่า เป็นสินค้าที่มีโอกาสในการส่งออกสูงมาก จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดรถยนต์มือสอง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์เข้าสู่ตลาดแอฟริกาใต้ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจต่ำตกในปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวแอฟริกาใต้จำนวนมากได้หันไปหาตลาดรถยนต์มือสอง โดยมีข้อมูลจาก Auto Trader ระบุว่าปี 2566 จำนวนรถยนต์มือสองขายได้เพิ่มขึ้น 4.6%
เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยยอดขายรถยนต์มือสอง รวมทั้งสิ้น 367,075 คัน ยอดขายเพิ่มขึ้นจากปี 2565 รวม 17,000 คัน มูลค่ารวม 146,5 พันล้านแรนด์ หรือประมาณ 272.6 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 แรนด์เท่ากับ 1.86135) ราคาขายเฉลี่ยคันละ 399,163 แรนด์ โดยราคาขายเฉลี่ยต่อคันเพิ่มขึ้น 7.7%
สำหรับแบรนด์รถยนต์มือสอง 10 อันดับแรกที่มียอดขายสูงที่สุด ในปี 2566 ได้แก่
โดยจากข้อมูลข้างต้น พบว่า แบรนด์รถยนต์มือสองจากเอเชีย ยังคงติดอันดับต้นในตลาดแอฟริกาใต้ โดยโตโยต้ามียอดขายสูงที่สุด คือ 60,296 คัน ซูซูกิ ยอดขายขยายตัวเพิ่มขึ้น 28.8% และ Kia ยอดขายเติบโต 16.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 ดังนั้น จึงอาจสร้างความกังวลต่อแบรนด์รถยนต์สัญชาติเยอรมันในการครองตลาดในแอฟริกาใต้ได้
“การที่ยอดขายรถมือสองในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการอะไหล่รถยนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ที่ผ่านมา สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังแอฟริกาใต้มูลค่ามากที่สุด คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เฉลี่ยประมาณ 30% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังแอฟริกาใต้ โดยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ไทยส่งสินค้าดังกล่าวไปยังแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยปี 2566 มีมูลค่า 1,240 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งจำแนกเป็นการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ 73% รถยนต์ 4 ที่นั่ง 16% และรถปิกอัพ รถบัสและบรรทุก 11% แสดงให้เห็นว่า รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบจากไทย ยังคงมีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในแอฟริกาใต้ หากสามารถแข่งขันได้ในเรื่องคุณภาพและราคา”นายกฤษฎา กล่าว