หอการค้าจี้รัฐรับมือ 4 ความท้าทาย ฉุด ศก.ไทยตํ่าศักยภาพ เพิ่มประชากร-ลุย AI

14 มี.ค. 2567 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 11:06 น.

ปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.9% ถือเป็นเติบโตที่ตํ่ากว่าศักยภาพ มีปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจโลกผันผวน การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลล่าช้า กระทบงบประเทศ วิกฤตหนี้ครัวเรือนสูงกดทับกำลังซื้อและการบริโภค ส่งออกติดลบ ส่งผลการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมหดตัว

ขณะที่ในปีนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.8-3.3% (ณ มี.ค. 67) จากเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก ส่งออกยังฟื้นตัวช้า การท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้าสู่ระดับเดิม และกำลังซื้อคนในประเทศลดลง

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

  •  รับมือ 4 ความท้าทาย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้านจำเป็นต้องได้รับการพูดถึงและเริ่มหาแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หอการค้าฯ จึงเสนอแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ โดยมีความท้าทายใน 4 เรื่องที่ต้องวางแผนรับมือ ได้แก่

1.Geopolitical Change ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตลอดจนผลการเลือกตั้งผู้นำของสหรัฐและหลายประเทศในปีนี้ เป็นความท้าทายนโยบายการต่างประเทศและนโยบายทางเศรษฐกิจไทยจะต้องมีความชัดเจน

2.Technology Change วันนี้ AI Technology เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศทุกมิติ ไทยจึงจำเป็นต้องให้ความจริงจังกับเรื่อง Digital Transformation โดยนำ Digital Technology มาใช้ก้าวข้ามการทำงานรูปแบบเดิม ๆ ที่มีขั้นตอนมาก และการยกระดับการทำงานของภาครัฐไปสู่ e-Government

3.Population Change เป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้ประเด็นเศรษฐกิจคือ แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง สวนทางกับอัตราการตายที่สูงกว่า ทำให้ประชากรไทยลดลงกว่าปีละ 1 แสนคน กระทบต่อจำนวนคนวัยทำงานที่ยิ่งลดน้อยลง จะกลายเป็นปัญหารื้อรังในอนาคตต่อภาคการผลิตของประเทศในระยะอันใกล้ ดังนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายจริงจังในการเพิ่มจำนวนประชากร ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ รวมไปถึงดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ และกลุ่ม Talent ต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงาน และเป็นกำลังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

4.Climate Change สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสภาวะเอลนีโญ ส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ กระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรของไทย ขณะเดียวกันยังมีส่วนทำให้เกิดปัญหาไฟป่าและปัญหา PM 2.5 หากไม่มีแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยได้

หอการค้าจี้รัฐรับมือ 4 ความท้าทาย ฉุด ศก.ไทยตํ่าศักยภาพ เพิ่มประชากร-ลุย AI

  • ปลุกพลังไทยฮับภูมิภาค

 กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศ 8 วิสัยทัศน์เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองอุตสาหกรรมระดับโลก และเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของภูมิภาค (ท่องเที่ยว, การแพทย์และสุขภาพ, อาหาร, การบิน, ขนส่ง, ยานยนต์แห่งอนาคต, เศรษฐกิจดิจิทัล, การเงิน) นายสนั่นมองว่า เป็นเรื่องที่ดีที่นายกฯ ได้ชูวิสัยทัศน์การเดินหน้าประเทศ โดยดึง 8 วิสัยทัศน์ที่รัฐบาลเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสสำหรับการเป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย

ทั้งนี้จะเป็นการปลุกพลังคนไทยและปักหมุดทิศทางของประเทศ ให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน เห็นเป้าหมายและเดินหน้าเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน และยังเป็นการส่งสัญญาณถึงภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ได้เห็นถึงทิศทางและนโยบายของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนที่จะตามมาในอนาคต

  • ฮับท่องเที่ยว-ขนส่งต้องเร่ง

ในหลายวิสัยทัศน์มีโอกาสสูงที่ไทยจะเป็นที่ 1 หรือฮับของภูมิภาคได้ โดยเฉพาะศูนย์การท่องเที่ยว ที่ไทยทำได้ดี เพียงแต่ต้องมีการปรับปรุงในรายละเอียด ทั้งด้านการรองรับและการบริการในสนามบินที่ต้องรวดเร็วมีประสิทธิภาพ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ท่องเที่ยว การเชื่อมระบบการขนส่งเมืองหลักกับเมืองรอง การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงเดินทางกลับ นอกจากนี้ต้องเร่งโปรโมทในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงให้มากขึ้น ซึ่งส่วนนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ และศูนย์กลางอาหาร จากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ส่วนในประเด็นการเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) ยังมีหลายโจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมต่อกันทั่วประเทศอย่างไร้รอยต่อ (บก ราง อากาศ นํ้า) ซึ่งโครงข่ายทางรางที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขนส่งคนและสินค้า และเป็นหนึ่งในโหมดที่มีต้นทุนตํ่าที่สุดทุกโครงการต้องเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ทันต่อการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ

“ส่วนการตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต วันนี้รัฐบาลจริงจังกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตครบวงจรในไทย ซึ่งได้รับการตอบรับจากค่ายรถยนต์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ ยังอยากให้รัฐบาลมีมาตรการสร้างการเปลี่ยนผ่านให้กับกลุ่มยานยนต์สันดาปเพราะมีผู้ประกอบการไทยในแวลูเชนดังกล่าวจำนวนมาก เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านหรือปรับตัวเพื่อแข่งขันได้ในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV)”