เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ รัฐบาลต้องทำอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ในสถาบันหลักภาคเอกชนที่ต้องประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจยิ่ง
นายสนั่น กล่าวว่า เกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้เห็นความพยายามของรัฐบาลในการเข้ามาแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนของประเทศ ทั้งการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน การลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดึงการการท่องเที่ยวจากต่างชาติ แม้รัฐบาลยังไม่มีงบประมาณประจำปีในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ต้องชื่นชมในความมุ่งมั่นตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ก่อน และลงมือทำทันที
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายด้าน ที่จำเป็นต้องได้รับการพูดถึงและเริ่มหาแนวทางในการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
หอการค้าไทย จึงเสนอแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ โดยมี 4 แผนรับมือ ได้แก่
1.Geopolitical Change ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(Fed) ตลอดจนผลการเลือกตั้งผู้นำของสหรัฐและหลายประเทศในปีนี้ เป็นความท้าทายที่นโยบายการต่างประเทศ และนโยบายทางเศรษฐกิจไทยจะต้องมีความชัดเจน
“การที่ท่านนายกฯ เป็นเซลส์แมนที่ดี ขยันขันแข็งลงพื้นที่เจรจากับประเทศต่าง ๆ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุนรัฐบาลทำงานเชิงรุกในลักษณะ Team Thailand Plus ในการปลดล็อกส่งเสริมภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ส่วนนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ไทยสามารถฉกฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตรฺของโลกได้”
2.Technology Change วันนี้ AI Technology เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศทุกมิติ ไทยจึงจำเป็นต้องให้ความจริงจังกับเรื่อง Digital Transformation โดยนำ Digital Technology มาใช้ก้าวข้ามการทำงานรูปแบบเดิม ๆ ที่มีขั้นตอนมาก การยกระดับการทำงานของภาครัฐไปสู่ e-Government
ในส่วนของหอการค้าฯ ในฐานะภาคเอกชนได้ลุกขึ้นมาจับมือกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) และ กระทรวงพาณิชย์ ยกระดับ Ease of Doing Business ให้การทำธุรกิจของผู้ประกอบการสะดวก ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นหนึ่งในการบ้านที่เอกชนตั้งใจขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
3.Population Change เป็นประเด็นที่น่ากังวัลไม่แพ้ประเด็นเศรษฐกิจ กล่าวคือแนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยลดลง สวนทางกับอัตราการตายที่สูงกว่าทำให้เฉลี่ยประชากรไทยลดลงกว่าปีละ 1 แสนคน แน่นอนว่าจะกระทบต่อจำนวนคนวัยทำงานที่ยิ่งลดน้อยลง จะกลายเป็นปัญหารื้อรังในอนาคตต่อภาคการผลิตของประเทศในระยะอันใกล้
ดังนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายจริงจังในการเพิ่มจำนวนประชากร ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ รวมไปถึงดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ และกลุ่ม Talent ต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงาน และเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
4.Climate Change สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะสภาวะเอลนีโญ (El Niño) ส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ และกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรของไทย ขณะเดียวกันยังมีส่วนทำให้เกิดปัญหาไฟป่าและปัญหาฝุ่น PM 2.5 หากไม่มีแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยได้
“รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือทั้งการปัดฝุ่นแผนบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ มาตรการจูงใจให้ทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจ เช่น การลดภาษีสำหรับการนำเข้าอุปกรณ์ที่จำเป็นในการลดฝุ่นที่ประเทศไทยยังทำเองไม่ได้ การส่งเสริมและสนับสนุนด้านภาษีหรือแรงจูงใจอื่น ๆ ให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ หรือ EV Car ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนการสนับสนุนประชาชนผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีช่วยลดฝุ่น หรือแม้แต่การทำให้สินค้าที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น (เช่น อ้อยที่ได้มาจากการเผาไร่) เป็นต้น”
นายสนั่น กล่าวอีกว่า ในปี 2566 อันดับศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยอันดับขีดความสามารถการแข่งขันไทยไต่ขึ้น 3 อันดับ จากอันที่ 33 มาอยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ และแม้ภาพรวมจะเป็นในเชิงบวกในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดย่อยรายปัจจัย ยังมีสิ่งท้าทายที่ไทยต้องเร่งเครื่องแก้ไขและปรับปรุงอีกมาก เพื่อให้การจัดอันดับโลก หรือแม้แต่การจัดลำดับในภูมิภาคนี้ปรับดีขึ้น ดังนี้
1.ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ขยับขึ้น 18 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 16 แต่ปัจจัยย่อยด้านภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ลำดับที่ 44 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ช้าและกำลังซื้อภายในประเทศยังคงอ่อนแอ รวมไปถึงการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในลำดับที่ 29 แสดงให้เห็นว่าไทยจำเป็นต้องเร่งเปิดตลาดใหม่ ขยาย FTA ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปต่างประเทศ ตลอดจนการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค
2.ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ขยับขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 24 แต่ปัจจัยย่อยด้านการบริหารภาครัฐ การคลัง กฎหมายธุรกิจ และการบริหารสังคม ยังอยู่ในอันดับที่ไม่สูง รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎระเบียบ และกฎหมายที่ล้าสมัย ให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันของโลก นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการติดต่อกับประชาชน ผ่าน e-Government เพื่อสร้างความสะดวกรวดเร็ว ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนของหลายหน่วยงาน ประหยัดเวลาและต้นทุนของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอรัปชั่นให้ลดลงได้มากขึ้นด้วย
3.ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ขยับขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 23 ปัจจัยย่อยที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับปรุงคือด้านการผลิตภาพและประสิทธิภาพเช่นเดียวกับรัฐบาล ที่จำเป็นต้องเร่งนำ Digital Transformations การขับเคลื่อนธุรกิจให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ โดยเฉพาะการยกระดับภาคการเกษตร ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม
4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขยับขึ้น 1 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 43 ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไทยยังอยู่ในลำดับที่ไม่สูงมากนัก รัฐบาลต้องเร่งยกระดับโครงสร้างด้านเทคโนโลยี การส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาสมัย ตลอดจนการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งยกระดับการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาสำคัญคือด้านภาษาและการใช้เทคโนโลยี
ปัจจุบันแรงงานไทยมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในระขั้นสูง เพียงร้อยละ 1 ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับมาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ การดึงดูดกลุ่มบริษัท Tech จากต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับคนไทยจะมีส่วนช่วยเพิ่มทักษะและความสามารถของคนในประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมงานวิจัยภายในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยี จะมีส่วนช่วยยกดับขีดความสามารถทุกด้านให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
นายสนั่นยังให้ความเห็นถึงการประกาศ 8 วิสัยทัศน์ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อมุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูน์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว, ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ,ศูนย์กลางอาหาร, ศูนย์กลางการบิน,ศูนย์กลางขนส่ง, ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต,ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล,ศูนย์กลางการเงิน) โดยระบุว่า
หอการค้าฯ มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่นายกฯ ได้ชูวิสัยทัศน์การเดินหน้าประเทศ โดยดึง 8 วิสัยทัศน์ที่รัฐบาลเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสดึงโอกาสการเป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย การแถลงวิสัยทัศน์ของนายกฯ นอกเหนือจากจะเป็นการปลุกพลังคนไทยและปักหมุดทิศทางของประเทศ ให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน เห็นเป้าหมายและเดินหน้าเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันแล้ว แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงภาคธุรกิจทั้งในและโดยเฉพาะต่างประเทศ ถึงทิศทางและนโยบายของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนที่จะตามมาในอนาคต
มองอีกมุมหนึ่ง ก็จะเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับ 8 วิสัยทัศน์ ได้เร่งเครื่องทำแผนพัฒนาศักยภาพให้ไปสู่เป้าหมายของประเทศ แม้ว่าปัจจุบันหลายวิสัยทัศน์หลายด้านไทยยังยังเป็นรองประเทศในภูมิภาคเดียวกัน แต่การเซตเป้าหมายก็ถือเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องวิ่งไปให้ถึง แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้เวลามาก
“ในหลายวิสัยทัศน์มีโอกาสสูงที่ไทยจะกลายเป็นที่ 1 ได้ โดยเฉพาะเรื่องศูนย์การท่องเที่ยวที่วันนี้เราทำได้ดี เพียงแต่ต้องมีการปรับปรุงในรายละเอียด ทั้งในด้านการรองรับและการบริการในสนามบินที่ต้องรวดเร็วมีประสิทธิภาพ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ท่องเที่ยว การเชื่อมระบบการขนส่งเมืองหลักกับเมืองรอง รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงเดินทางกลับ นอกจากนี้ การเร่งโปรโมทในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงให้มากขึ้น ซึ่งส่วนนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ และศูนย์กลางอาหาร จากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก”
ส่วนในประเด็นการค้า การลงทุน การประกาศศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) ยังมีหลายโจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมต่อกันทั่วประเทศอย่างไร้รอยต่อ (บก ราง อากาศ น้ำ) โครงข่ายทางรางที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขนส่งคนและสินค้า และเป็นเป็นหนึ่งในโหมดที่มีต้นทุนต่ำที่สุดยังต้องเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อทันต่อการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ
ขณะที่การตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) วันนี้รัฐบาลจริงจังกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในการเข้ามาตั้งฐานการผลิตครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับจากค่ายรถยนต์จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้หอการค้าฯ ยังอยากให้รัฐบาลมีมาตรการสร้างการเปลี่ยนผ่านในกับกลุ่มยานยนต์สันดาปเพราะมีผู้ประกอบการไทยใน Value Chain ดังกล่าวจำนวนมาก เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านหรือปรับตัวเพื่อแข่งขันได้ในธุรกิจ EV Car
ด้านเศรษฐกิจและเงินสมัยใหม่ ทั้งการตั้งเป้าเป็น ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ที่เรายังขาดการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตและแข่งขันได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยี High Tech ต่าง ๆ ทั้งในด้าน Semiconductor, Data Center รองรับ Cloud Computing หรือแม้แต่ R&D ไทยเองยังมีบุคลากรที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ
ดังนั้น นอกเหนือจากการดึงต่างชาติเข้ามาลงในในประเทศแล้ว จำเป็นต้องมีสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนในชาติ ขณะเดียวกันการดึง Talant เก่ง ๆ เข้ามา จำเป็นต้องมี Immigration Policy ที่ชัดเจน เอื้อให้ต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อการลงทุนในระยาวได้อย่างสะดวก เช่นเดียวกันหลายประเทศที่ใช้มาตรการลักษณะจนประสบความสำเร็จ
“หอการค้าฯ มองว่า วันนี้ท่านนายก ฯ ประกาศวิสัยทัศน์ เพื่อสร้างเป้าหมายของประเทศไทยแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการกำหนดเจ้าภาพดำเนินการและติดตามที่ชัดเจน หน่วยงานภาครัฐแต่ละกระทรวงต้องบูรณาการการทำงานกันมากขึ้น ในขณะที่ภาคเอกชนและประชาชนอยากเห็นแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว
ตลอดจนการสื่อสารความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เกิดความรู้สึกถึงเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งส่วนนี้หอการค้าฯ มองว่าแม้วิสัยทัศน์บางเรื่องจะต้องใช้ระยะเวลา แต่ถ้าหากมี Road map ที่ชัดเจน การเมืองที่มีเสถียรภาพ การเดินหน้านโยบายอย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยทำให้วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้เกิดขึ้นจริงได้ และหวังว่าในระยะยาวจะส่งผลให้ไทยขยับจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงได้ความมุ่งหวังได้อย่างแท้จริง”