KEY
POINTS
ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาล ผ่านกระทรวงการคลัง มีมาให้เห็นเป็นระยะๆ ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถึง 2ครั้ง สวนทางกับความต้องการของรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยนโยบายผ่านการแสดงความเห็นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น
ไปจนถึงความคิดเห็นที่แตกต่างในการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท การที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ส่งตัวแทนร่วมประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลแทนตนเอง จนกระทั่งคำปราศรัยของ "อุ๊งอิ๊ง" นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” จัดโดยพรรคเพื่อไทย ระบุว่า "ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ" จากจุดนี้ลามไปสู่กระแสข่าวเรื่องการปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ จนถึงการแก้กฎหมายแบงก์ชาติในที่สุด
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงต้นตอของปัญหา และหนทางคลี่คลายความขัดแย้งเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย
ดร.อนุสรณ์มองว่า ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่าง ระหว่างรัฐบาลและธปท.ในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่ระบบ หรือกลไกหรือกฎหมาย เพราะพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ปัจจัยอื่นมากกว่าเช่น พฤติกรรมในการทำงานร่วมกัน
ทั้ง ธปท. และกระทรวงการคลัง ควรจะทำงานเป็น one team การดำเนินนโยบายการเงิน และการคลังควรมีเอกภาพเป็นทีมเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงบางครั้ง ธปท. และกระทรวงการคลังไม่ใช่ทีมเดียวกัน เพราะมาจากต่างขั้วอำนาจ หรือมาจากต่างรัฐบาล
แต่การทำงานอย่างมืออาชีพ จะไม่ทำให้ประเด็นที่มาต่างขั้วกันเกิดปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา บางทีก็ถูกตั้งโดยนักการเมืองคู่แข่งแต่ก็สามารถทำงานร่วมกับนักการเมืองอีกพรรคหนึ่งได้ เช่นเจอโรม พาวเวล ถูกตั้งโดยพรรครีพับลิกัน แต่ก็สามารถทำงานกับประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตได้
โดยดูผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ และดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งเชื่อว่านายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลังน่าจะสามารถทำงานร่วมกันกับ ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการฯ ธปท.ได้ เพราะเคยเป็นอดีตบอร์ดแบงก์ชาติมาก่อน น่าจะสามารถพูดคุยกันได้
สำหรับสภาพเศรษฐกิจไทยขณะนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก เป็นการฟื้นตัวในรูปตัวเค ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอี และประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยบรรเทาปัญหา
การดำเนินนโยบายทางการเงิน จะดำเนินนโยบายด้วยกรอบนโยบายการเงิน (Inflation Targeting) คือมีอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปทำข้อตกลงกับรัฐบาล กระทรวงการคลัง และกับรัฐสภาในบางประเทศ ว่าจะต้องบริหารนโยบายการเงินให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตกลงกันไว้
สำหรับประเทศไทยคือ 1-3% ซึ่งในขณะนี้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายได้หลุดกรอบด้านล่าง จึงมีความเหมาะสมที่จะผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็จะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบลดลง
เครื่องมือทางการเงินของธปท.มีหลายเครื่องมือด้วยกัน เช่น การดำเนินการผ่านตลาดการเงิน(open market operation ) , การดำรงเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (Reserve Requirements) หรือการใช้เครื่องมือหน้าต่างตั้งรับ (Standing Facilities)
สมมุติหากประกาศลดดอกเบี้ย ก็จะทำให้ต้องเพิ่มปริมาณเงินในตลาดด้วยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งจะดึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ให้ลดลง แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้คงไม่กระตุ้นให้คนกู้เงินเพิ่มขึ้น หรือเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ
สำหรับ ประเด็นข้อห่วงใยเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้เงินทุนไหลออกนั้น ดร.อนุสรณ์ มองว่าเงินที่ไหลจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยมักเป็นเงินระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร ไม่ได้มีผลต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่อาจมีผลต่อนักลงทุนในตลาดการเงินจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ส่งผลต่อการไหลออกของเงินไม่ได้ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆประกอบด้วยเช่นอัตราเงินเฟ้อ บรรยากาศในการลงทุน อัตราผลตอบแทนที่ปรับความเสี่ยงแล้ว ยกตัวอย่างเช่นบางประเทศในแอฟริกา หรือลาตินอเมริกาที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงมากแต่ก็ไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนได้ เพราะปัจจัยด้านอื่นๆไม่เอื้อ
ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือติดกับดักรายได้ระดับปานกลางแบบประเทศไทย ควรดำเนินนโยบายโน้มเอียงไปในทางที่ค่าเงินบาทอ่อนเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นด้านการส่งออก เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้ดีขึ้น แต่เหล่านี้ไม่ใช่มาตรการระยะยาว เพราะปัญหารากฐานที่สำคัญคือ โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่รัฐบาลควรต้องเอาใจใส่แต่ต้องใช้เวลา และมีผลระยะยาว
ซึ่งการดำเนินนโยบายทางการคลังของรัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างติดปัญหา ตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้า การพิจารณางบประมาณปี 2567 ก็ล่าช้าถึง 7-8 เดือน ส่งผลให้เงินจากการใช้จ่ายของภาครัฐไม่มีเข้าสู่ระบบเลย นอกจากนั้นการดำเนินการทางการคลังต้องผ่านกลไกของระบบราชการ ทำให้การลงทุนการจัดซื้อจัดจ้างมีความล่าช้า ฉะนั้นเมื่อประเมินว่าเศรษฐกิจยังมีปัญหาอยู่ และเงินเฟ้อก็ไม่ได้สูง การผ่อนคลายทางการเงินจึงมีความจำเป็น
ข้อดีของการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน คือสามารถตอบสนองได้ทันที สามารถตัดสินใจได้ทันที ไม่ต้องรอผ่านกลไกของราชการ ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางการเมือง แต่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า
เนื่องจากนโยบายการเงินต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเห็นผล ซึ่งมีความเห็นส่วนตัวว่า กนง.ไม่ควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายใน 2ครั้งหลังมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องขอให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง
เพราะหาก 6-8 เดือนที่ผ่านมากนง.สามารถประเมินภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าได้ว่าจะไม่ดีอย่างที่คาด ก็ไม่ควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก และก็จะไม่มีปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องถึง 7เดือนเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าแบงก์ชาติ เว้นแต่เป็นการพิจารณาตัวเองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตามในความเห็นส่วนตัวคิดว่าควรมีการผ่อนคลายทั้งมาตรการทางการเงินและการคลังไปควบคู่กัน โดยทางการคลังควรเร่งรัดการใช้จ่ายและลดภาษี ซึ่งเมื่อมองไปข้างหน้าถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งจากฝั่งตะวันออกกลาง ฝั่งยุโรป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีปัญหาเศรษฐกิจโลกด้านอื่นๆอีก จึงเป็นเหตุผลให้ต้องผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการคลังระยะสั้นควบคู่กัน