“นายกฯ-ภูมิธรรม”ป้อง“อุ๊งอิ๊ง”หลังฉะแบงก์ชาติอุปสรรคฟื้นเศรษฐกิจ

05 พ.ค. 2567 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2567 | 08:48 น.

นายกฯ ชี้"อุ๊งอิ๊ง”ไม่ได้บีบแบงก์ชาติ หลังระบุเป็นอุปสรรคฟื้นเศรษฐกิจ แค่สะท้อนความเห็น การทำงานไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ขณะที่"ภูมิธรรม"ยันสะท้อนปัญหาประชาชน ฉะแบงก์ชาติไม่ใช่องค์กรที่แตะต้องไม่ได้

วันนี้(5 พ.ค.67)  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวบนเวทีงาน 10 เดือนที่ไม่รอทำต่อให้เต็ม 10 ระบุธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นเศรษฐกิจ ว่า เป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า 

“ผมเข้าใจในความอิสระของแบงก์ชาติ มั่นใจว่าทำงานร่วมกัน และให้เกียรติมาโดยตลอด เมื่อมีข้อเรียกร้อง จึงได้เรียกร้องและพูดคุย เรื่องดอกเบี้ยที่เห็นว่าควรต้องปรับลดลง แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติมีเหตุผลไม่ปรับลด 

จากนี้รัฐบาลจึงต้องเดินหน้าพูดคุยกับ 4 ธนาคารใหญ่เพื่อให้ลดดอกเบี้ยลง ซึ่งเชื่อว่าเป็นการทำงานยึดโยงกับประชาชน จากที่ลงพื้นที่ ซึ่งผมเองรับฟังมาโดยตลอด และการลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ดก็จะรับฟังปัญหาดังกล่าวต่อไป”

นายกฯ ย้ำว่า “ความเป็นอิสระก็เรื่องหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าการมาอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ สถาบันการเงิน นักการเมือง เรามาอยู่เพื่อประชาชน แต่วิธีการแก้ไขปัญหาข้อแตกต่างกันไป ทุกคนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์กันได้”

อย่างไรก็ตาม มีความกังวล ต่อผลกระทบจากความคิดเห็นที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้มีความขัดแย้ง จึงพยายามแก้ไขปัญหาในส่วนที่สามารถทำได้ เหมือนคำแนะนำที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า การประสานระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลควรดำเนินการผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  หรือ หน่วยงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันต่อไป 

“เพราะมีความเห็นแตกต่างกันชัดเจนเรื่องดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยแค่ 1 สลึง หรือ 50 สตางค์ก็มีส่วนช่วย ซึ่งวันนี้จะไปรับฟังปัญหาเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน ดังนั้น วิธีการสื่อสารอาจแตกต่างกันไป แต่ยืนยันว่า รัฐบาลให้เกียรติทุกองค์กร”

นายกฯ กล่าวด้วยว่า จะมีการหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี แลรมว.คลัง ว่าจะสามารถประสานพูดคุยกับแบงก์ชาติได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น เพราะตนมองว่าหากขัดแย้งกันประชาชนจะเดือดร้อน 

เมื่อถามว่าการกล่าวบนเวทีของพรรคเพื่อไทยของหัวหน้าพรรคเป็นการบีบแบงก์ชาติ หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า "ไม่เคยบีบใคร เป็นแค่การสะท้อนความต้องการของประชาชน"

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊ก "Phumtham Wechayachai" ระบุว่า... “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่องค์กร หรือสถาบันที่ “ประชาชน” จะกล่าวถึงหรือ “วิพากษ์ วิจารณ์ ”หรือ “แตะต้อง” ไม่ได้

“เจตจำนงพรรคเพื่อไทยที่หัวหน้าพรรค นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้สื่อสารกับสังคมถึงกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของพรรคที่ผ่านมา สำหรับผมคือ การแสดงออกอย่างเปิดเผย จริงใจ และห่วงใยที่แบงก์ชาติ ยังยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างเดิมโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ซึ่งประชาชน (ที่เป็นลูกหนี้แบงก์และประชาชนทั่วๆไป) กำลังเผชิญชีวิต ดิ้นรนอยู่ภายใต้ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างแสนสาหัส

สื่อมวลชนเองก็รับรู้กระแสข่าวเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ความคิดของคนในสังคมต่อประเด็นนี้ก็มีความหลากหลาย และประเด็นการตัดสินใจของแบงก์ชาติก็เป็นกระแสความเห็นต่างกันอย่างกว้างขวางในสังคม

แต่แปลกใจว่าทำไมเมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยสะท้อนความคิดบ้าง จึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ แบบมุ่งโจมตีด้วยอคติอย่างไร้เหตุผล

การแสดงความเห็นต่อกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกำลังทำหน้าที่สะท้อนความเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาต่อแบงก์ชาติ ในฐานะที่องค์กรนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาและดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ 

ความเห็นดังกล่าวมีนัยยะที่สะท้อนถึงความห่วงใยต่อผลกระทบจากภาระทางเศรษฐกิจ ที่บีบคั้นชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกำลังเดือดร้อน และแบกรับความยากลำบากอยู่ 

ท่าทีของการแสดงความคิดทางการเมืองของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย และสำนึกความรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอในเวทีของพรรคการเมือง ประกอบด้วยกรรมการและสมาชิกพรรค ที่ต่างต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแสวงหาแนวทาง มาตรการ ทางเลือก เพื่อช่วยกันคิด และจัดการภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

จึงเป็นสิทธิที่สามารถพูดได้ ออกความเห็นได้ และเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้ ไม่ว่าจะในฐานะพลเมือง หรือ หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีความห่วงใยประชาชน ห่วงใยบ้านเมือง

ผมเห็นว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจในครั้งนี้ จะเป็นการกระตุกให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิด ไตร่ตรองหาเหตุผลให้เห็นทางออกมากขึ้น

ความเป็นจริง แบงก์ชาติไม่ใช่สถาบันที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่องค์กรที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ตรงข้าม แบงก์ชาติ คือ กลไกของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ที่ประชาชนทุกฝ่ายเข้าถึง เสนอความคิดเห็นได้

แม้จะมีขอบเขตหน้าที่หลักทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ชาติไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง และชีวิตของประชาชน

การที่ประชาชนทั่วไป หรือ พรรคการเมืองกล่าวถึงแบงก์ชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เสนอความเห็นต่อแบงก์ชาติ ก็ ไม่ใช่การแทรกแซง แต่ เป็นการเสนอเพื่อให้มุมมองทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมมากกว่าในบริบทสถานการณ์ที่เป็นอยู่

การที่สื่อบางบุคคล บางสำนักมีอคติต่อพรรคเพื่อไทย และนำความเห็นบางส่วนของหัวหน้าพรรคมาวิพากษ์อย่างรุนแรง และขยายความตามอคติของตน บวกด้วยการใส่สีตีข่าว เป็นการทำข่าวด้วยอคติมากกว่าข้อเท็จจริง 

ผมเฝ้ามองคนข่าว หรือ สำนักข่าวบางคนบางส่วน ที่ยังติดยึดอยู่กับอคติเดิม แล้วการใช้พื้นที่ข่าวของตนเป็นพื้นที่ละเลงอคติ และขยายความขัดแย้งอยู่เนืองๆ ก่อและปั่นกระแสขัดแย้งในสังคม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว 

ผมขอยืนยันว่า กรณีแบงก์ชาติยังเป็นประเด็นที่สังคมยังสะท้อนความเห็นและสื่อสารกันได้ โดยใช้ความรู้และปัญญาที่รอบด้าน มากกว่าการใช้จินตนาการที่มีแต่อคติ  เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม”