ไฮสปีดป่วนผวาติดหล่มยาว บัตรส่งเสริมบีโอไอหมดอายุ

17 ม.ค. 2567 | 03:55 น.

ไฮสปีด 3สนามบินป่วน บัตรส่งเสริมบีโอไอ หมดอายุ 22 ม.ค.67 เอกชน ขอขยายนัดสุดท้าย อีก4เดือน รฟท.ผวา ร่อนหนังสือถกอัยการสูงสุด ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ก่อสร้างก่อน ได้ บัตรส่งเสริม ขัดกฎหมายหรือไม่ ด้านเลขาบีโอไอ ย้ำรอแก้ไขสัญญาให้เรียบร้อยจึงออกบัตรให้

 

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มี บริษัท เอเชีย เอรา วันจำกัด เครือซีพี เป็นคู่สัญญา ซึ่งเป็นเรือธงสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ยังมีปมร้อนกรณี ขอขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ 3 ของเอกชนหลังบัตรส่งเสริมฯจะหมดอายุลงในวันที่22 มกราคม2567

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเอกชนจะอยู่ระหว่างเสนอขอขยายเวลาออกไปอีก 4 เดือน แต่การออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) เพื่อก่อสร้าง โครงการ อาจหยุดชะงักลง เพราะตามเงื่อนไขต้องรอการอนุมัติ การขยายบัตรส่งเสริมดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน

 

 

แหล่งข่าวจากรฟท.ระบุว่า เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่าง รฟท.ได้ มีหนังสือหารือไปยังอัยการสูงสุดสอบถามว่าในทางปฏิบัติสามารถออก NTPโดยไม่ต้องรอบัตรส่งเสริม บีโอไอได้หรือไม่เพราะการขยายอายุบัตรฯ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และอยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งที่ผ่านมาการจะได้รับอนุมัติบัตรส่งเสริมได้ต้องมีความพร้อมในทุกด้าน

สำหรับสาเหตุที่บัตรส่งเสริมบีโอไอหมดอายุถึง 2 ครั้ง เพราะเอกชนต้องการรอการแก้ไขสัญญา ให้แล้วเสร็จ และมีอีกหลายปมที่เจรจาไม่ลงตัว ซึ่งล่าสุดการแก้ไขสัญญา ช่วงแอร์พอร์ตลิงก์ อยู่ระหว่างรออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปมปัญหาโดยเฉพาะการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองกับไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 นั้น ขณะนี้ยังเจรจาไม่ได้ข้อยุติ โดยที่ผ่านมาภาครัฐให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองและปรับวิธีการชำระเงิน คือ เดินรถไฟสร้างไป หรือ สร้างและเปิดเดินรถเป็นช่วงๆ ซึ่งจะต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการอีอีซีก่อน ขณะที่ช่วงพญาไท-บางซื่อ อยู่ระหว่างการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคบริเวณคลองสามเสนของกทม. คาคว่าภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะดำเนินการแล้วเสร็จ

ส่วนแนวเส้นทางช่วงตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิไปจนถึงสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกปัจจุบันการเวนคืนแล้วเสร็จ100% ซึ่งเป้าหมายรฟท.ต้องการให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการบริเวณนี้ก่อน

อีกประเด็นที่เอกชนต้องการให้ ส่งมอบพื้นที่ในคราวเดียวกันและมีความสมบูรณ์100% คือ โครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนที่ดินมักกะสัน เมืองมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาการถอนลำรางสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังรอการพิจารณาเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร โดยในมุมเอกชนไม่ต้องการมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต

 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรืออีอีซี กล่าวถึงความคืบหน้า กรณีที่มีการประชุมคณะกรรมการกำกับแก้ไขสัญญาโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงแอร์พอร์ลิงก์ ในวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากคณะกรรมการชุดนี้เป็นเรื่องระหว่างรฟท.กับเอกชน

ส่วนประเด็นที่เอกชนขอขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ 3 จากเดิมสิ้นสุด 22 มกราคม 2567 เป็น 22 พฤษภาคม 2567 นั้น ขณะนี้ทราบว่าเอกชนมีการขอขยายเวลาไปแล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางบีโอไอเป็นผู้พิจารณา หากเอกชนมีการขอขยายเวลาแล้วหลังจากนี้รัฐสามารถแจ้งหนังสือเริ่มงาน (NTP) แก่เอกชนเพื่อก่อสร้างได้

“หากรณีที่บีโอไอไม่อนุมัติให้เอกชนขยายเวลาบัตรส่งเสริมการลงทุนจะกระทบกับการออก NTP หรือไม่นั้น เท่ากับว่าบัตรส่งเสริมที่มีอยู่จะหมดอายุไปไม่สามารถขอได้ ในกรณีนี้รฟท.ได้ถามความเห็นเรื่องนี้ต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอสำนักงานอัยการสูงสุดตอบกลับว่าในทางกฎหมายภาครัฐสามารถออก NTP ได้หรือไม่”

นายจุฬา กล่าวต่อว่า ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างร่วมกับโครงการไฮสปีด ไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ยังไม่ได้ข้อยุตินั้น ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับเอกชนให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนจะกระทบกับการแก้ไขสัญญาหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาไฮสปีด ซึ่งเรื่องนี้จะต้องตกลงกันก่อนว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากในสัญญาเดิมเป็นอีกลักษณะนึง หากในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างที่แตกต่างจากสัญญาจะต้องเจรจาร่วมกัน เพราะเป็นพื้นที่เดียวกันที่ใช้โครงสร้างร่วมกัน

   “หลังจากที่มีการลงนามแก้ไขสัญญายังสามารถเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างร่วมได้เพื่อเปลี่ยนแปลงของงานก่อสร้างที่จะดำเนินการหากมีเหตุจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงในด้านราคาก่อสร้างก็ต้องชดเชยกันไป หากประเด็นพื้นที่ทับซ้อนได้ข้อยุติจะต้องแก้ไขสัญญาอีกหรือไม่นั้น ในสัญญาที่มีการแก้ไขแล้วสามารถระบุข้อความเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องแก้ไขใหม่ แต่ถ้าเป็นกรณีที่แตกต่างจากข้อความที่ลงนามแก้ไขสัญญาและมีสาระสำคัญจำเป็นที่ต้องเสนอต่อครม.พิจารณาด้วย”

  ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) กล่าวถึงกรณีที่เอกชนได้ขอขยายเวลาต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอออกไปถึง 22 พฤษภาคม 2567 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 มกราคม 2567 ว่า ปัจจุบันบีโอไอได้ส่งหนังสือขอความคิดเห็นจากรฟท. และสกพอ. แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ หรือไม่เกินวันที่ 19 มกราคมนี้

               “สาเหตุที่บีโอไอขอความคิดเห็นจากทั้ง 2 หน่วยงานเพิ่มเติม เนื่องจากการประชุมร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย บีโอไอ, รฟท.,และอีอีซี ที่อยากเร่งรัดโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งการขยายระยะเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายปกติแล้วบีโอไอสามารถขยายเวลาการออกบัตรฯได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 4 เดือน ทั้งนี้ต้องพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็น อีกทั้งโครงการนี้เป็นโครงการแฟล็กชิพ ของอีอีซี เมื่อเอกชนมีการขอขยายเวลามา ทำให้ต้องขอความเห็นทั้ง 2 หน่วยงานเพื่อประกอบการพิจารณา”

               นายนฤตม์ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวโน้มที่บีโอไอจะขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้กับเอกชนในครั้งนี้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้จนกว่าจะทราบความคิดเห็นจากทั้ง 2 หน่วยงานก่อน โดยที่ผ่านมาเอกชนได้มีการขอขยายเวลาการต่ออายุบัตรส่งเสริมฯมาแล้ว 2 ครั้ง โดยสาเหตุที่เอกชนมีการขอขยายเวลา เนื่องจากเอกชนอยู่ระหว่างรอการแก้ไขสัญญาโครงการฯ

               “กรณีที่เอกชนรอแก้ไขสัญญาก่อน หลังจากนั้นบีโอไอถึงจะพิจารณาออกบัตรส่งเสริมฯให้ เรามองว่าไม่ถึงกับเป็นเงื่อนไขที่จะต้องแก้สัญญาโครงการฯก่อน แต่เราจะพิจารณาตามเหตุและผลของสถานการณ์ ณ วันนี้ ในเมื่อมีนโยบายจากเจ้าของโครงการ คืออีอีซีและรฟท. ซึ่งเราจะต้องรับฟังเจ้าของโครงการในเรื่องนี้ด้วย”

               ทั้งนี้การขอขยายเวลาต่ออายุบัตรส่งเสริมฯของเอกชน ครั้งที่ 3 คาดว่าจะทราบผลและได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่วนเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการขอขยายเวลาในครั้งนี้หรือไม่ ทางบีโอไอยังไม่ได้มองถึงเรื่องนั้น เพราะต้องรอความคิดเห็นจากทั้ง 2 หน่วยงานก่อน

 สำหรับความเป็นไปได้ที่บีโอไอจะไม่อนุมัติให้เอกชนขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมฯนั้น เบื้องต้นบีโอไอจะพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็นแต่ละโครงการ โดยโครงการฯนี้ถือเป็นโครงการสัมปทานที่สำคัญระดับประเทศ ซึ่งไม่ใช่โครงการทั่วไป อีกทั้งเป็นโครงการดังกล่าวมีผลต่อเนื่องไปยังโครงการอื่นๆด้วย

ไฮสปีด3สนามบิน