เปิดตัวละครลับ หลังได้ตัว "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" ฟ้องคดี STARK

25 มิ.ย. 2567 | 05:53 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 04:30 น.

แนวทางการฟ้องคดี STARK หลังได้ตัว "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีตัวละครอื่น และเอกสารหลักฐานที่ยังไม่ถูกเปิดเผย

KEY

POINTS

  • เอกสารหลักฐานที่ยังไม่ถูกเปิดเผย เช่นรายงานตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินโดยละเอียด (Forensic & Financial Crime) ที่บริษัท STARK ได้ว่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด จัดทำรายงานตรวจสอบเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการได้ตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
  • คดีนี้ยังมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่อาจต้องรับผิดชอบ รวมถึงกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ของ STARK ที่ควรแสดงความจริงใจในการชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ผู้สอบบัญชี บริษัทหลักทรัพย์ ที่อาจถูกฟ้องร้องในภายหลัง
  • มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงอาจสูงกว่า 14,000 ล้านบาทที่ระบุในคดี โดยยังมีผู้เสียหายจากการซื้อขายหุ้นสามัญบนกระดานอีกเป็นหมื่นคน ซึ่งกลุ่มรวมพลัง STARK กำลังดำเนินการฟ้องคดีแพ่งให้กับผู้เสียหายกลุ่มนี้

หลังจากเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาในคดีหุ้น STARK ได้ถูกนำตัวจากนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้นำตัวนายชนินทร์ มาส่งยังสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567

ซึ่งอัยการได้คัดค้านการให้ประกันตัว เนื่องจากนายชนินทร์ มีพฤติการณ์หลบหนีมาก่อน และเกรงว่าจะหลบหนีอีก เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ผนวกกับนายชนินทร์เองไม่ประสงค์จะขอประกันตัว โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย ศาลจึงได้ออกหมายขังส่งไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 26 ส.ค. 67

รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางยูทูป ฐานเศรษฐกิจ ได้สนทนากับ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจกลุ่มรวมพลัง STARK ถึงความคืบหน้าทางคดี และความเป็นไปได้ในการนำทรัพย์มาชดใช้คืนแก่ทางผู้เสียหายจากหุ้นสามัญ และหุ้นกู้STARK โดยนายวีรพัฒน์ เปิดเผยว่าแม้ได้ตัวนายชนินทร์ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ยังถือเป็นเพียงการเริ่มต้นทวงคืนความยุติธรรมเท่านั้น 

นายวีรพัฒน์ กล่าวถึงสิ่งที่ต้องจับตาดูต่อจากนี้คือ นายชนินทร์ จะให้การซัดทอดไปยังรายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างไร เพราะถูกตั้งข้อสังเกตจากทนายความของนายชนินทร์ว่า เหตุใดบางบุคคลที่มีเส้นทางการเงินไม่ต่างกับตนเองจึงไม่ถูกสั่งฟ้อง 

ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นนิติบุคคลก็มีข้อพิจารณาว่า กรรมการที่ดำรงตำแหน่งในขณะที่มีปัญหาต้องร่วมรับผิดชอบ แต่สำหรับกรรมการ และผู้บริหาร STARK รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องชุดใหม่ ก็ควรต้องแสดงความจริงใจในการดูแล ชดเชยเยียวยาแก่ผู้เสียหาย หากไม่รีบเข้ามาช่วยเหลือ อาจจะต้องพิจารณาว่าต้องมาร่วมรับผิดด้วย

ดังนั้นสิ่งที่บริษัท STARK ควรต้องทำในขณะนี้คือ จัดประชุมผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร เพราะเส้นแบ่งระหว่างบริษัทที่ต้องรับผิด กับกรรมการมีความเชื่อมโยงถึงกัน

คดีที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นการฟ้องเฉพาะ บริษัท STARK และบริษัทที่เกี่ยวข้อง แต่เรายังไม่ได้ฟ้องผู้สอบบัญชี ,ผู้เซ็นรับรองงบฯ และบริษัทหลักทรัพย์ที่ช่วยโยกเงินของคุณชนินทร์ออกจากประเทศอย่างสะดวก ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีเงินที่จะจ่ายเพราะเป็นบริษัทชื่อดังระดับโลก

ดังนั้นอัยการฟ้องตัวละครหลัก แต่เรื่องนี้ยังมีตัวละครรรองที่เกี่ยวข้องและมีเงินมากเพียงพอที่จะชดเชยเยียวยาแก่ผู้เสียหายได้ ขึ้นอยู่กับว่าประสงค์จะเข้ามาแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ เพราะหากเกิดการฟ้องร้องคดีแพ่งก็ต้องไปสู่คดีอาญาด้วย

เปิดตัวละครลับ หลังได้ตัว \"ชนินทร์ เย็นสุดใจ\" ฟ้องคดี STARK

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ 14,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายที่ฟ้องฐานฉ้อโกงประกอบด้วย จึงต้องเป็นมูลค่าความเสียหายที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการนำเงินของประชาชนไป ซึ่งชัดเจนในกรณีหุ้นกู้ และหุ้นสามัญเพิ่มทุน

แต่ยังมีผู้เสียหายอีกเป็นหมื่นคนที่ซื้อขายหุ้นสามัญบนกระดาน จากการวิเคราะห์หุ้น STARK จากพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เกิดจากการโกหกหลอกลวง ผู้เสียหายกลุ่มนี้อัยการไม่สามารถฟ้องแทนได้ แต่กลุ่มรวมพลังSTARK กำลังเดินหน้าฟ้องคดีแพ่งให้กับผู้เสียหายกลุ่มนี้ด้วย

ทางออกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหายจาก STARK ควรต้องให้เกิดการเจรจาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยในคดี เช่น นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ หรือจำเลยรายอื่นๆ ถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือ ชดเชยเยียวยาต่อผู้เสียหาย โดยอาจใช้เป็นเหตุประกอบการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว หรือผ่อนหนักเป็นเบาได้ ซึ่งคดีอาญา เริ่มนัดสืบพยานตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงธันวาคม 2568 ซึ่งคาดว่าอาจมีการพิพากษาในช่วงต้นปี หรือกลางปี 2569 

ในส่วนของการดำเนินคดีนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าการได้ตัวนายชนินทร์มาในวันนี้ก็คือ เอกสารหลักฐานที่ยังไม่ถูกเปิดเผย เช่นรายงานตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินโดยละเอียด (Forensic & Financial Crime) เพราะบริษัท STARK ได้ว่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด จัดทำรายงานตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท STARK ในยุคของนายชนินทร์

แต่ปรากฏว่าในเวลาต่อมาบริษัท ดีลอยท์ ที่ปรึกษา ได้ยุติการตรวจสอบลง คำถามคือบริษัท ดีลอยท์ ที่ปรึกษาไปเจออะไรหรือไม่ จึงหยุดตรวจสอบ ดังนั้นจึงควรให้ศาลออกคำสั่งให้นำเอกสารฉบับดังกล่าวมาเปิดเผย เพื่อให้การเรียกมูลค่าเพื่อชดเชยเยียวยาแก่ผู้เสียหาย มีความชัดเจนและครบถ้วนยิ่งขึ้น

นายวีรพัฒน์ ตั้งข้อสังเกตทิ่งท้ายด้วยว่า การโกงหุ้นSTARK ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การหลอกเอาเงินของนักลงทุนเข้ากระเป๋าตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อการแสวงหาผลกำไรจากราคาหุ้นด้วย ซึ่งลักษณะเช่นนี้มีเพียง STARK รายเดียวจริงหรือไม่