การจับกุมตัว "ชนินทร์ เย็นสุดใจ"อดีตประธานกรรมการ และผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง STARK ( บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ) มาดำเนินการในไทยได้สำเร็จ หลังจากที่หนีกบดานไปอยู่นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์นาน 1 ปี ก่อนหน้า ( 6 ก.ค. 2566 ) ที่ก.ล.ต.จะกล่าวโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ 10 ราย ต่อ DSI ในข้อหาตกแต่งงบการเงินของ STARK เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน ห้ามออกนอกประเทศในวันเดียวกัน
ย้อนประวัติ "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" เส้นทางก่อนที่จะพาวัยย่างเข้า 65 ปี ต้องคดีฉ้อโกงและถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ตลาดทุนในรอบ 49 ปี ที่มีมูลค่าการโกงเกินระดับหมื่นล้าน
"ชนินทร์" เกิดเมื่อวันที่ เกิดวันที่ 24 กันยายน 2502 จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี และปริญญาโท บริหารธุรกิจWorcester Polytechnic Institute จากสหรัฐอเมริกา
ประวัติการทำงาน ชนินทร์ ได้รับฉายาว่าเป็น “ดีลเมกเกอร์” ที่มีชื่อเสียง จากผลงานการฟื้นฟูกิจการให้กับกลุ่มธุรกิจของ “วิชัย ทองแตง” หลังเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเขานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เปาโลเมดิค จำกัด เมื่อปี 2543 และในปี 2546 เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด ซึ่งถือหุ้นหลักในบริษัท โรงพยาบาลพญาไท 1 จำกัด, บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 2 จำกัด และ บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 3 จำกัด
ก่อนที่จะเกิดดีลใหญ่ในกลุ่มโรงพยาบาล หลังกลุ่ม BDMS ของนายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เข้าเทคโอเวอร์ ปี 2554 นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการในเครือธุรกิจของ "วิชัย ทองแตง" ไม่ว่าจะเป็นประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน), ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไดโดมอน กรุ๊ป ในปี 2554
ก่อนที่เขาจะได้รับความวางใจจาก "เจ้าสัว ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ”เจ้าของ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA ดึงตัวมาเป็นกรรมการและประธานกรรมการ บมจ.เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น ( SWC ) ในช่วงปี 2557 หนึ่งในธุรกิจภายใต้ บริษัท ทีโอเอ กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (TOAGH)
และในช่วงทกลางปี 2562 นั่นเอง "ชนินทร์"เข้ามาเป็นกรรมการให้กับ STARK และดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นประธานกรรมการ ซึ่งมี "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ "บุตรชายคนที่ 2 ของเจ้าสัวประจักษ์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ยังเป็นผู้บริหารในบริษัทต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัท STARK รวม ๆ ร่วม 10 แห่ง อาทิ บจก. เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย), บจก.พีดีทีแอล เทรดดิ้ง , บจก Stark Investment Corporation ,บจก.เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2,บจก. ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หลังสถานการณ์ใน STARK เริ่มไม่สู้ดี เริ่มตั้งแต่ในช่วงเดือนธ.ค.2565 ที่ STARK แจ้งตลท.ประกาศพับแผนเข้าซื้อกิจการ Leoni LEONI ผู้ผลิตสายไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก จากเยอรมนี มูลค่า 560 ล้านยูโร ( ราว 20,589 ล้านบาท ) ทั้งที่ขออนุมัติ และเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ไว้แล้ว 5,580 ล้านบาท , มาเดือน ก.พ.2566 บริษัทแจ้งไม่สามารถส่งงบการเงินปี 2565 และงบ Q4/2565 ตามด้วยสิ้นเดือน มี.ค.2566 นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ ซีเอฟโอบริษัทแจ้งลาออก และต่อมาวันที่ 18 เม.ย.2566 นายชนินทร์ เย็นสุดใจ พร้อมด้วยอร์ดบริษัทรวม 7 คน ยื่นลาออกพร้อมกัน
ก่อนที่ในเวลาต่อมา 6 ก.ค.2566 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ บมจ.สตาร์ค ฯ กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารรวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564- 2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ การปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK อันเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง
นอกจากนี้มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน รายบริษัทสตาร์ค ฯ และบุคคลเกี่ยวข้องที่กระทำผิดรวม 10 ราย และสั่งห้าม (1) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (2) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (3) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (4) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และ (5) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ออกนอกประเทศ ( ซึ่งนายชนินทร์ ได้หนีออกนอกประเทศไปก่อนหน้าที่จะมี ก.ล.ต. จะมีคำสั่งออกมา )
ล่าสุด ( 23 มิ.ย.67 ) หลังการจับกุม DSI ได้แจ้งข้อหานายชนินทร์ เย็นสุขใจ ใน 6 คดี หรือ 6 ข้อหาสำคัญ นั่นคือ
รวมความผิดทุกข้อหามากกว่า 100 กรรม มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท มีผู้เสียหายรวมกว่า 4,000 ราย ทั้งสถาบันการเงิน ผู้ลงทุนรายย่อยและผู้ถือหุ้นกู้
ถือเป็นจุดจบ ดีลเมกเกอร์และมือการเงินระดับประเทศ "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" และไม่ต่างกับธุรกิจ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ที่พังไปก่อนหน้า จากบริษัทที่เคยมีมูลค่ากิจการสูงสุดช่วงปี 2564 ถึง 87,997 ล้านบาท และมีมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป ) ในปีเดียวกันสูงสุด 59,532 ล้านบาท เคยเป็นหุ้นที่ถูกจัดให้อยู่ในดัชนี SET100
สตาร์ค ฯ เคยสร้างผลดำเนินงานเติบโตด้วยรายได้รวมสูงสุดถึง 27,130 ล้านบาทในปี 2564 และกำไรสุทธิ 2,783 ล้านบาท ก่อนที่งบการเงินในปี 2565 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการรายงาน กลับพลิกขาดทุนถึง 6,612 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบกว่า 4,414 ล้านบาท และวันนี้ STARK กำลังเดินมาสู่จุดที่บริษัทฯ เข้าข่ายถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์