"เอกนิติ"ฉายภาพวิกฤติต้มยำกุ้ง บทเรียนราคาแพงที่ไทยต้องจดจำ อย่าประมาท

01 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

"เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" ย้อนรอยประวัติศาสตร์ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" จนนำมาสู่การลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 กรกฎาคม 2540 พร้อมวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดวิกฤตในรูปแบบเดิมแม้ลดน้อยลง แต่ก็ไม่อาจประมาท เพราะยังมีความท้าทายใหม่

KEY

POINTS

  • ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ย้อนประวัติศาสตร์ วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ผลจากการเปิดเสรีการเงิน กู้ยืมต่างประเทศมากเกินไป ลงทุนเกินตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ นำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540
  •  วิกฤตครั้งนั้นประเทศไทยต้องขอกู้เงินจาก IMF ปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหา 58 แห่ง จัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ มาตรการฟื้นฟูสถาบันการเงิน แต่ยังมีหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้สถานะการคลังเข้มเเข็ง และการสร้างความเข้มแข็งให้การคลังท้องถิ่น
  •  ดร.เอกนิติ มอง แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤติในรูปแบบเดิมลดน้อยลง แต่ก็ไม่อาจประมาท เพราะยังมีความท้าทายใหม่ เช่น หนี้ครัวเรือน สังคมผู้สูงอายุ ขีดความสามารถในการแข่งขัน

“ลดค่าเงินบาท” ข่าวที่สั่นสะเทือนวงการธุรกิจไทยในเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เมื่อรัฐบาลประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” เปิดฉากสู่วิกฤตที่กลายมาเป็นตำนาน “วิกฤตต้มยำกุ้ง” จนถึงทุกวันนี้ 

จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2530 ความฝันที่จะเป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ดูเหมือนจะเป็นจริงได้ เมื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลทะลักเข้าประเทศ แต่ใครจะรู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของหายนะที่กำลังจะมาถึง

รัฐบาลไทยตัดสินใจเปิดประตูสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ผ่านนโยบายเปิดเสรีทางการเงินและการจัดตั้ง กิจการวิเทศธนกิจไทย (Bangkok International Banking Facilities : BIBF) ในปี 2536 เงินกู้ต่างชาติไหลบ่าเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยปราศจากการควบคุมที่เข้มงวด มีธนาคารพาณิชย์ถึง 46 แห่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการ BIBF ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของระบบการเงินอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยเฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ราคาที่ดิน ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และอาคารชุดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดการเก็งกำไรและการลงทุนเกินตัว ผู้ประกอบการหลายรายกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ เกิดปรากฏการณ์ซื้อขายใบจองบ้าน ที่ดิน และอาคารชุดอย่างคึกคัก

อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงกว่าต่างประเทศ ทำให้ภาคเอกชนหันไปกู้เงินจากต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะ “หนี้ระยะสั้น” ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ทำให้ปลายปี 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยพุ่งสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 70.40%

ประเทศไทยประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2530-2539 โดยในช่วงก่อนวิกฤต ตัวเลขขาดดุลสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในปี 2539 โดยขยายตัวเพียง 1.9% จากที่เคยขยายตัวสูงถึง 24.82% ในปีก่อนหน้า

สถาบันการเงินหลายแห่งดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีการปล่อยกู้อย่างหละหลวม ไม่ได้พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการหรือความสามารถในการชำระเงินคืน ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้เสีย (NPL) จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มี NPL สูงถึง 52.3% ของยอดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในเดือน พ.ค. 2542 

การตรึงค่าเงินบาทไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป และเป็นช่องทางให้นักเก็งกำไรโจมตีค่าเงินในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังทำให้ ธปท. ต้องพยายามดูดซับสภาพคล่องเพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาอีก กลายเป็นวัฏจักรที่ไม่รู้จบ

สัญญาณอันตรายที่เป็นจุดเเตดหัก เมื่อนักลงทุนต่างชาติเริ่มสังเกตเห็นรอยร้าวในระบบเศรษฐกิจไทย นักเก็งกำไร อสูรกายการเงิน อย่างกลุ่ม Hedge Funds เริ่มโจมตีค่าเงินบาทอย่างดุเดือดตั้งแต่ปี 2539

ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามต่อสู้ ทุ่มเททรัพยากรมหาศาลเพื่อปกป้องค่าเงินบาท ในที่สุดเมื่อเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงเหลือเพียง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ก็มาถึง 

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้ค่าเงินดิ่งลงเหวเรื่อยๆ จาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สู่จุดต่ำสุดที่ 56.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีถัดมา 

ธุรกิจต่างๆ ล้มเป็นโดมิโน พนักงานนับแสนถูกปลดออกจากงาน ความฝันของการเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียพังทลาย ประเทศไทยต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF  โดยมีการลงนามรับเงื่อนไขการกู้เงินเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 ด้วยวงเงินมหาศาลถึง 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้นมี 4 คน อยู่เบื้องหลังคอยช่วยเหลือ นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีคลังในขณะนั้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือ ดร.วิระไท สัติประภพ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ  ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) และ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นวันที่ประเทศไทยต้องยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากตลาด และประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติที่ลุกลามไปทั่วระบบการเงินและเศรษฐกิจ ธนาคารและสถาบันการเงินล้มลง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พุ่งสูง ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลง ส่งผลให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก

รัฐบาลไทยต้องเข้าโครงการกู้เงินจาก IMF และออกมาตรการ 14 สิงหาคม เพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงินเน้นเพิ่มเงินกองทุนให้ได้ตามมาตรฐาน BIS (Bank for International Settlement)  เพิ่มทุนให้สถาบันการเงิน โดยให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา เพื่อจัดการกับวิกฤติในระบบสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ฝากเงินและจัดการกับหนี้เสีย

“ครบ 27 วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เป็นวิกฤติที่ไม่ควรลืม เเละรุนเเรงมาก คนตกงาน คนที่มีธุรกิจต้องขายทุกอย่าง วันนั้นทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เป็นช่วงที่ลำบากมาก วันนั้นโดน 2 เด้ง คือ ค่าเงินเเละวิกฤติธนาคาร ส่วนต้นตอของวิกฤติมาจากกรรมเก่าก่อนปี 2540 ประเทศทำไม่ดีหลายปีติดต่อกัน ทั้งขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ปล่อยสินเชื่อไม่ระมัดระวัง กลายเป็น NPL สูง ระบบธนาคารเสียหาย ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง ต้องกู้ IMF ” 

นโยบายและมาตรการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในเวลานั้น นอกจาดการลอยตัวค่าเงิน โดยประกาศยกเลิกการกำหนดค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว การเจรจาและขอกู้ยืมเงินกับ IMF ยังมีการปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ดำเนินการกับสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 58 แห่งที่ถูกปิดกิจการ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน 58 แห่งเเละนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 

 ช่วงหลังวิกฤติได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อป้องกันเงินไหลออกนอกประเทศ ฟื้นฟูสถาบันการเงิน โดย ปรส. โดยประกาศผลการพิจารณาแผนการฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ 58 แห่ง มีเพียง 2 แห่ง ที่เปิดดำเนินกิจการใหม่ได้ ส่วนที่เหลือ 56 แห่งให้เข้ากระบวนการขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชีต่อไป 

เดือนสิงหาคม 2541 ออกแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินเน้นเพิ่มเงินกองทุนให้ได้ตามมาตรฐาน BIS (Bank for International Settlement) เพิ่มทุนให้สถาบันการเงินโดยเงินออมจากประชาชนและขายหุ้นให้ต่างชาติ พร้อมขายพันธบัตรให้ประชาชนเพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง โดยการกู้เงินจากญี่ปุ่นตามแผน มิยาซาว่า จำนวน 53,000 ล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจ และลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% ลดภาษีน้ำมันเป็นเงิน 23,800 ล้านบาท ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตการส่งออกโดยรัฐบาลร่วมกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศตั้งกองทุนเพื่อช่วยเอกชนปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลด NPL เพิ่มทุนให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก SME ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านจำนวน 5,000 ล้านบาท

“ต้องรีบหยุดเลือดไหลโดยเข้าโครงการ IMFเเละจัดการวิกฤติในสถาบันการเงิน เพราะเริ่มลามมาสู่เเบงก์หลายที่ ด้วยการเพิ่มทุนตามมาตรการ 14 สิงหา ให้กับเเบงก์ที่ยังมีสถานะดี ส่วนเเบงก์ที่ปิดก็ต้องมีกองทุนค้ำประกันผู้ฝากเงิน ทำให้หนี้ในปัจจุบันตกค้างมาจากปี 40 มีการเข้าไปจัดการหนี้เสียที่ส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจ มีการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยคนตกงานจากภาคเอกชน รับคนมาเป็นลูกจ้างที่เรียกกันว่า ลูกจ้างมิยาซาว่า มาเป็นลูกจ้างของรัฐ” 

ดร.เอกนิติ สะท้อนว่า เมื่อมองย้อนกลับไปถึงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นภาพที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ประเทศไทยในวันนี้มีจุดเเข็ง จึงยากที่จะเกิดวิกฤตในลักษณะเดียวกัน 

บทเรียนจากวิกฤติครั้งนั้นนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการเงินไทย มีการเพิ่มความโปร่งใสในการรายงานทุนสำรองระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบธนาคาร และการรักษาระดับทุนสำรองระหว่างประเทศให้สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มาตรการเหล่านี้ช่วยให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นในปัจจุบัน 

“คิดว่าวิกฤติเเต่ละครั้งมีบทเรียนได้ประโยชน์ คือ เรื่องโปร่งใส ถามว่าเหลืออะไรบ้างที่ยังไม่ทำ ก็มีหลายส่วน คือ เเผนช่วงนั้นตั้งใจให้มีการปฎิรูปการคลัง เช่น ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากช่วงวิกฤติเพื่อให้สถานะการคลังเข้มเเข็ง ซึ่งปัจจุบันไทยน่าจะเป็นประเทศที่ภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุด 7% ยังมีเรื่องการคลังท้องถิ่นที่ยังต้องทำให้เข้มเเข็งมากขึ้น” 

\"เอกนิติ\"ฉายภาพวิกฤติต้มยำกุ้ง บทเรียนราคาแพงที่ไทยต้องจดจำ อย่าประมาท

แม้โอกาสที่จะเกิดวิกฤติในรูปแบบเดิมนั้นลดน้อยลง แต่ก็ไม่อาจประมาทได้ เพราะวิกฤติในอนาคตอาจมาในรูปแบบที่คาดไม่ถึง ความท้าทายใหม่ก็กำลังรออยู่เบื้องหน้า “หนี้ครัวเรือน” กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง และที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

นอกจากนี้ การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค และความจำเป็นในการปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นโจทย์สำคัญ

“บทเรียนวิกฤติ 40 ไทยคิดสั้นเกินไป นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ต้องช่วยชี้ให้เห็นปัญหาระยะยาวเเละการปรับโครงสร้างเศรษกิจให้เข้มเเข็ง ต้องคอยจับตาปัจจัยเสี่ยง เพราะโลกผันผวนมากขึ้น สร้างภูมิคุ้มให้ระบบเศรษฐกิจไทย ปัญหาที่ต้องให้คาวามสำคัญ คือ ขีดความสามารถในการเเข่งขันโดยเฉพาะเเรงงานผู้สูงอายุมากขึ้นที่อาจจะมีประสบการณ์ ยังมีศักยภาพจะทำอย่างไรให้มีรายได้ เรื่องทักษะใหม่ๆ ก็สำคัญ ส่วนปัญหาที่ไทยไม่สามารถเเก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เพราะมีหลายหน่วยที่ยังทำงานแบบแยกส่วน”   

27 ปีผ่านไป แผลเป็นจากวิกฤตต้มยำกุ้งยังคงปรากฏให้เห็นทั่วกรุงเทพฯ ตึกร้างยืนตระหง่านเป็นอนุสรณ์แห่งความทะเยอทะยานที่พังทลาย บทเรียนราคาแพงนี้ยังคงตอกย้ำให้ระลึกถึงความเปราะบางของระบบการเงินและความสำคัญของการบริหารเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ