ขณะที่ตลาดในประเทศ โรงงานผลิตสินค้าไทยต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากสินค้านำเข้าในหลากหลายกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากจีนที่มีต้นทุนและราคาตํ่ากว่าสินค้าไทยเฉลี่ย 20-30% ในทุกสินค้า
ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุตั้งแต่ปี 2564 ถึง 5 เดือนแรกปี 2567 มีโรงงานอุตสาหกรรมของไทยปิดตัวไปแล้วกว่า 3,500 โรง สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) การใช้อัตรากำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 55% ในจำนวนนี้มีมากกว่า 15 กลุ่ม/สาขาผลิตภัณฑ์ ที่ใช้กำลังการผลิตตํ่ากว่า 50% เสี่ยงปิดตัวเพิ่ม หากทิศทางสถานการณ์ข้างหน้ายังไม่ปรับตัวดีขึ้น
ล่าสุดในกลุ่มสินค้ายานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมานานนับสิบปี นายสุรพงษ์ ไพสิฐ-พัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฯ ช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 รถยนต์ทุกค่ายรวมกันในไทยมียอดการผลิตรวม 644,951 คัน ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ยอดการผลิตรถปิกอัพ หรือรถกระบะที่เป็นรถยนต์เชิงพาณิชย์ และเป็นรถที่เกษตรกรนิยมใช้ทั่วประเทศ มีการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงถึง 55%
ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วงเดียวกัน มีจำนวนทั้งสิ้น 260,365 คัน ลดลง 24% สะท้อนถึงเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประชาชนหดตัวลง นอกจากนี้มีปัจจัยจากคนไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อ
ขณะที่การส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทย ช่วง 5 เดือนแรกมีจำนวน 429,969 คัน ลดลง 2.2% ซึ่งที่ผ่านมาไทยส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) หรือรถที่ใช้นํ้ามันเป็นเชื้อเพลิงเป็นหลัก ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นรถยนต์เทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังได้รับความนิยม ที่ส่วนใหญ่เป็นค่ายรถยนต์จากจีนที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่ม ยังไม่มีผลต่อตัวเลขส่งออกมากนัก
จากทิศทางแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวข้างต้น มีผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ปรับลดคาดการณ์ผลิตรถยนต์ทั้งปีนี้ของไทยลงเหลือ 1.85 ล้านคัน จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 1.90 ล้านคัน หรือจะหายไปกว่า 5 หมื่นคัน(จากขายในประเทศเป้า 7.5 แสนคัน ลดเหลือ 7 แสนคัน) หากคำนวณที่เฉลี่ยคันละไม่เกิน 1 ล้านบาท จะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประเทศหายไป 4-5 หมื่นล้านบาท
สอดคล้องกับที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถึงรายได้และกำไรของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นที่ตั้งโรงงานในไทย ข้อมูลในปี 2566 ล่าสุดมี 3 ค่ายที่มีรายได้หรือกำไรลดลง ได้แก่ โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) มีรายได้รวม 492,313 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไร 26,915 ล้านบาท ลดลง 2.5%, มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) มีรายได้รวม 162,338 ล้านบาท ลดลง 4.3% กำไร 4,639 ล้านบาท ลดลง 16.3% และ นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) มีรายได้รวม 91,358 ล้านบาท ลดลง 12.9% ขาดทุน 2,032 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปิดโรงงานผลิตในไทยภายในสิ้นปี 2568 จากมีปัญหายอดขาย และได้รับผล กระทบการเข้ามาทำตลาดของรถยนต์ EV จีน และบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ในไทยภายในปี 2567 จากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง
ตัวอย่างสัญญาณจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยข้างต้นที่ภาพรวมไม่สู้ดีนัก ซึ่งยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ในอีกหลายสาขา ที่อยู่ในสถานะไม่แตกต่างกันนักในเวลานี้ ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องคงต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ตามมาอีกมาก