ธ.ก.ส. สภาพคล่องส่วนเกิน 3 หมื่นล้าน จ่อ เพิ่มทุน แจก "เงินดิจิทัลวอลเล็ต"

03 ก.ค. 2567 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2567 | 08:33 น.

กมธ.งบ 68 ก้าวไกล ซักละเอียดยิบ ยืมเงิน ธ.ก.ส. แจก "เงินดิจิทัลวอลเล็ต" เอามาจากไหน ฉัตรชัย-ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เผย สภาพคล่องส่วนเกินเหลือ 20,000-30,000 ล้าน ประสาน กระทรวงการคลังขอ "เพิ่มทุน" เตรียมซีนารีโอสนองนโยบายหาเสียง

วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ครั้งที่ 7/2568 โดยมีระเบียบวาระเรื่องพิจารณาแผนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 มาตรา 9 กระทรวงการคลัง รวม 6 หน่วยงาน ได้แก่ 

  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดหลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ กมธ.ฯ ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล กล่าวซักถามว่า ในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียน ประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการถือตราสารหนี้ต่าง ๆ ถ้าเกิดต้องนำเงินมาโปะโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตอีก 1.723 แสนล้านบาท จะใช้เงินตรงนี้หรือไม่ กระทบกับตราสารหนี้หรือไม่ อย่างไร หรือใช้เงินในส่วนอื่น

นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กมธ.ฯ ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ซักว่า ณ ขณะนี้ สภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส.พร้อมที่จะให้เบิกจ่ายในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตมาน้อยแค่ไหน เพราะจะเป็นเงินที่ออกจาก ธ.ก.ส.ก้อนใหญ่ในช่วงเวลาสั้น ๆ และนับเป็นหนี้สาธารณะหรือไม่ และธ.ก.ส.มีนโยบายที่จะเพิ่มทุนหรือไม่ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 6 หมื่นล้านบาท 

“เมื่อธ.ก.ส.ให้เงินรัฐบาลไปใช้แล้ว ความสามารถของธนาคารก็ต้องลดลง เพราะไม่มีเงินที่จะไปปล่อยสินเชื่อต่อ จึงไม่แน่ใจว่าต้องเพิ่มทุนหรือไม่ ผมแนะนำให้กระทรวงการคลังรีบเพิ่มทุนให้ ธ.ก.ส.เถอะ ท่านจะได้ไประดมเงินฝาก ไปขายสลาก ธ.ก.ส.เพิ่ม จะได้เอาเงินมาปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมจากส่วนที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลเกือบ 2 แสนล้านในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต”นายวีระกล่าว

ขณะที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ กมธ.ฯ ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ซักถาม ธ.ก.ส.เกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาลที่ใช้งบประมาณตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 วงเงิน 1.723 ล้านล้านบาท ในส่วนของเงิน ธ.ก.ส. 4 ประเด็น ว่า  

  • ประเด็นแรก โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ถึงไหนและอย่างไร รวมถึงในส่วนที่ทางธ.ก.ส.ต้องรับภาระทางนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างไร
  • ประเด็นที่สอง เรื่องการตีความทางกฎหมาย ทำได้หรือทำไม่ได้
  • ประเด็นที่สาม เรื่องผลกระทบกับทาง ธ.ก.ส.ที่ต้องแบกรับภาระทำให้ส่งผลให้มีปัญหากระแสเงินสด (Cash Flow) หรือไม่ รวมถึงบริหารจัดการเงินในเชิงดอกเบี้ยอย่างไร 
  • ประเด็นที่สี่-ประเด็นสุดท้าย เรื่องการนับเป็นหนี้สาธารณะหรือไม่ อย่างไร 

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวชี้แจงว่า ธ.ก.ส.ได้รับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว ซึ่งเป็นเพียงในชั้นของหลักการ ส่วนรายละเอียดทาง ธ.ก.ส. โดยมติของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. (บอร์ด ธ.ก.ส.) ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน ได้มีหนังสือถามถึงรายละเอียดไปยังกระทรวงการคลัง เนื่องจากทางธ.ก.ส.ต้องพิจารณาว่า รายละเอียดในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังอยู่ในกรอบที่ทาง ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการได้หรือไม่ในทางปฏิบัติ ส่วนเรื่องการตีความทางกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ได้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง 

“เรื่องของผลกระทบต่อ ธ.ก.ส. ทาง ธ.ก.ส.ได้จัดทำซีนารีโอไว้ หลายซีนารีโอ เนื่องจากปัจจุบันธ.ก.ส.ยังไม่ทราบรายละเอียด จึงยังไม่สามารถที่สรุปสุดท้ายว่าจะกระทบธ.ก.ส.อย่างไร ซึ่ง บอร์ด ธ.ก.ส.ได้ให้ ธ.ก.ส.ดูซีนารีโอต่าง ๆ ในการที่จะรองรับโครงการของรัฐบาล ถ้าสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมาย ส่วนการนับเป็นหนี้สาธารณะหรือไม่อยู่ในมาตรา 28”นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวถึงสถาพคล่องของ ธ.ก.ส.ว่า ธ.ก.ส.มีสินทรัพย์สภาพคล่อง ณ 30 พ.ค.67 อยู่ที่ 336,000 ล้านบาท ซึ่งมีสภาพคล่องส่วนเกินสุทธิ 20,000 – 30,000 ล้านบาท ในการดำเนินการ

“ในส่วนของการรองรับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต หากมีการพิจารณาแล้วว่า ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการได้ เราก็มีซีนารีโอในการที่จะบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล”นายฉัตรชัยกล่าว 

นายฉัตรชัยกล่าวว่า สำหรับการเพิ่มทุน ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างประสานงานกับกระทรวงการคลังเพื่อขอเพิ่มทุนจากกองทุนเอสเอฟไอในการเสริมความแข็งแรงของธนาคารไว้ในอนาคต