รถถูกยึดทะลักลานประมูล คาดปี 67 มากกว่า 300,000 คัน

16 ก.ค. 2567 | 04:03 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2567 | 07:06 น.

เศรษฐกิจซบ ส่งผลรถถูกยึดทะลักลานประมูล คาดปี 67 มากกว่า 300,000 คัน กดราคาประมูล ซ้ำเติมเจ้าของรถ เหตุไฟแนนซ์ต้องกลับไล่บี้ส่วนต่างหนี้ รถอายุเกิน 15 ปีแทบแจกฟรี ไม่มีคนเอา

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันมีจำนวนรถถูกยึดเข้าสู่ลานประมูลของบริษัท สยามอินเตอร์การประมูล จำกัด มากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 20ปี โดยในปี 2566 มีจำนวนรถถูกยึดเข้าลานประมูลกว่า 350,000 คัน จากปกติอยู่ที่ 200,000-250,000 คัน
  • หลายปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนรถที่ถูกยึดในปัจจุบัน ทั้งปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพในอดีต ประกอบกับการสินสุดมาตรการช่วยเหลือจากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งยังมีปัจจัยของรถอีวี และเศรษฐกิจที่ไม่มีเสถียรภาพ
  • ทางรอดของผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองคือ การมีสต็อกให้น้อย ขายให้ไว ขายทุกราคา  เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าวันพรุ่งนี้ราคาจะปรับลดลงมาอีกเท่าไหร่

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่พุ่งสูงจนน่าเป็นห่วง ขณะที่ตัวเลขหนี้เสียแตะระดับ 1.14 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงสุด  โดยหนี้เสียที่มากที่สุดคือสินเชื่อรถยนต์ อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% YoY

รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูป ฐานเศรษฐกิจ สนทนากับนายสิทธิศักดิ์ มหาสิทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการตลาด บริษัท สยามอินเตอร์การประมูล จำกัด  ถึงสถานการณ์รถที่ถูกยึดเข้าลานประมูล และสอบถามข้อเท็จจริงที่ว่า รถทะลักลานประมูลจนรถยนต์มีราคาเพียง 3,000 บาทเท่านั้น 

นายสิทธิศักดิ์เปิดเผยถึงสถานการณ์รถที่ถูกยึดเข้าสู่ลานประมูลของ บริษัท สยามอินเตอร์การประมูล จำกัดว่า จากภาพรวมของรถที่ถูกยึดสะท้อนถึงความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือจากโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่าปริมาณรถถูกยึดเพิ่มขึ้นมหาศาล

โดยปี 2566 มีปริมาณรถที่ถูกยึดเข้ามามากที่สุดในรอบ 20ปีตั้งแต่เปิดบริษัทมา อยู่ที่ประมาณ 350,000 คันจากปกติอยู่ที่ 200,000-250,000 คัน และคาดการณ์ว่า ปริมาณรถถูกยึดเข้ามาที่บริษัทในปี 2567 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 คัน และจะต่อเนื่องเช่นนี้ไปอีก 3-4ปี ซึ่งตัวเลขการยึดรถแท้จริงมีมากกว่านี้ แต่ถือว่าไฟแนนซ์ยังมีการประคองการยึดรถไว้

ปัญหาในปัจจุบันสะท้อนถึงการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพในอดีต มีการปล่อยสินเชื่อที่ให้ยอดโอเวอร์ไปจากความเป็นจริง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจสะดุดขึ้นมาผู้เช่าซื้อจึงไม่สามารถผ่อนชำระได้ ซึ่งการจะขอปรับโครงสร้างสินเชื่อรถยนต์นั้นเกิดขึ้นในไฟแนนซ์ค่อนข้างน้อย เมื่อผู้เช่าซื้อผ่อนชำระไม่ไหวจึงตามมาด้วยการถูกยึดรถในที่สุด

เมื่อมีรถถูกยึดเข้าสู่ลานประมูลจำนวนมาก ส่งผลให้รถมีราคาประมูลที่ไม่ดี ทำให้มีส่วนต่างเยอะที่เจ้าหนี้จะไปฟ้องร้องเอากับลูกหนี้ เช่น หากรถที่ซื้อมามีราคา 100 บาท เมื่อถูกยึดมาประมูลขายออกได้ในราคา 50 บาท ดังนั้นผู้เช่าซื้อก็จะถูกฟ้องเรียกค่าส่วนต่างอีก 50 บาท แต่เมื่อมีปริมาณรถเข้าสู่ลานจำนวนมาก จากที่เคยประมูลขายได้ 50 บาท ก็อาจเหลือเพียง 30 บาท นั่นหมายความว่า ผู้เช่าซื้อก็จะถูกฟ้องเรียกค่าส่วนต่างมากขึ้นเป็น 70 บาท ฉะนั้น ก็เป็นการซ้ำผู้เช่าซื้อที่ถูกยึดรถที่ยังต้องมีหนี้สินต่อไป

สำหรับราคารถในลานประมูลปัจจุบัน มีราคาที่ถูกมากจนน่าตกใจ โดยรถที่อายุเกิน 15 ปีแทบจะต้องแจกฟรี เพราะไม่มีคนเอา สาเหตุมาจากความเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การยึดรถเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรถอีวีที่เข้ามาดัมป์ราคาด้วย ยิ่งทำให้รถอายุเกิน 15ปี แทบจะไม่มีมูลค่าเลย ดังนั้นผู้รับกรรมจึงเป็นผู้เช่าซื้อ

ขณะที่ไฟแนนซ์ หรือธนาคารที่ยึดรถมา ไม่ว่าราคาขายจะเป็นเท่าไหร่ก็ขาย เพราะสุดท้ายก็ไปฟ้องเอากับผู้เช่าซื้อ ซึ่งกฎหมายเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว ดังนั้นในลานประมูลจึงไม่ได้รับผลกระทบเพราะไม่ว่าราคาเท่าไหร่ก็ขาย พร้อมปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าในลานมีมอเตอร์ไซต์คันละ 100 บาท รถยนต์คันละ 3,000 บาท เพราะในความเป็นจริงคือแจกฟรี ซึ่งการปรับราคาของรถที่ไหลเข้ามายังลานประมูลนั้นจะมีกระบวนการ ใช้เวลาตั้งแต่ 3สัปดาห์ขึ้นไป

รถถูกยึดทะลักลานประมูล คาดปี 67 มากกว่า 300,000 คัน

เมื่อถามถึงผลกระทบจากรถอีวี ผู้ก่อตั้งสยามอินเตอร์การประมูลกล่าวว่า รถอีวีส่งผลกระทบทั้งระบบซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่มาพร้อมกับการdisruptionตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะเมื่อประเทศจีนมีนโยบายผลิตสินค้าให้มีจำนวนมาก และราคาถูกจึงทำให้รายที่ผลิตสินค้าราคาแพงในจีนก็ต้องล้มหายตายจากไป

ดังนั้นเราจึงได้เห็นรถอีวีที่ปรับราคาลงเร็ว ซึ่งตามปกติการปรับราคารถยนต์มักมีในทุกๆ 4ปี แต่ในรถอีวีปัจจุบันมีการปรับราคาลงแทบจะทุกปี ดังนั้นรถที่ใช้น้ำมันก็จะขายไม่ได้ถ้าราคารถอีวีต่ำกว่าล้าน เห็นได้จากยอดขายรถอีวีปีที่แล้วโตถึง 30% ในขณะที่รถใช้น้ำมันขายแทบไม่ได้

ในส่วนของรถยนต์มือสองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน เพราะผู้ที่จะซื้อรถมือสองก็ต้องเทียบราคากับรถอีวีป้ายแดงด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุทีราคารถมือสองในปีที่ผ่านมาตกลงไปถึง 30% จากปกติอยู่ที่ 10% เท่านั้น เรียกได้ว่าเต็นท์รถมือสองบาดเจ็บระนาว โดยเฉพาะเต็นท์ที่มีสต็อกเยอะๆ ซึ่งในปีนี้ราคารถมือสองก็ยังตกอยู่ คาดว่าประมาณ 15-20%

เต็นท์รถมือสองควรต้องมีการปรับตัวโดยการมีสต็อกให้น้อย ขายให้ไว ขายทุกราคา กำไรนิดหน่อยก็ควรต้องขายออกไปแล้วค่อยหารถใหม่เข้ามา เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าวันพรุ่งนี้ราคาจะปรับลดลงมาอีกเท่าไหร่ เพราะราคาปรับลงทุกๆ 3เดือน ต่างกับในอดีตที่ปรับราคาปีละครั้ง โดยการปรับราคาอ้างอิงไปตามรถอีวี อีวีปรับลงรถมือสองก็ต้องปรับ
 

 

อีกทางรอดของเต็นท์รถมือสองคือการนำสื่อออนไลน์เข้ามาช่วย โดยการทำคอนเทนท์ดีๆก็สามารถดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศมาซื้อได้ เต็นท์อาจมีสต็อกแค่ 100คัน แต่สามารถขายรถได้ 200คันจากการใช้สื่อออนไลน์ 

ปัจจุบันรถในโกดังของบริษัทรวมรถทุกประเภทอยู่ที่ 30,000 คัน ซึ่งถือว่าเยอะมาก โดยเฉพาะรถบรรทุกที่มีร่วม 3,000 คัน ถือว่ามากที่สุดในประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการไม่มีงาน ซึ่งรถบรรทุกราคาตกลงค่อนข้างมากถึงหลักล้านบาท ในขณะที่รถเก๋งราคาตกลงหลักแสน สัดส่วนรถยนต์ และรถกระบะถูกยึดในวันนี้มีจำนวนเท่าๆกัน จากเดิมที่รถเก๋งมีสัดส่วนมากกว่าอยู่ที่ 60-70% และรถกระบะอยู่ที่ 30-40% สะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี ชาวไร่ชาวนา ชาวบ้านที่ต้องใช้รถกระบะเพื่อทำมาหากินโดนยึดมากขึ้น