วันนี้ (15 กรกฎาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือประเด็นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจขนาดย่อมทั้งระบบ โดยเฉพาะหนี้ในกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Special Mention : SM) ทั้งหนี้รถยนต์ หนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต และหนี้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค
“ปัญหาหนักอกที่สุดและใหญ่ที่สุดคือหนี้ของประชาชน ถ้าแก้ได้แล้วทำให้หนี้รัฐเพิ่มขึ้นอีกหน่อยรัฐบาลก็รับได้ จึงต้องเร่งแก้หนี้ของประชาชนลดลงให้ได้ นายกฯ ได้รับทราบว่า ณ ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนมีอยู่สูงถึง 90% ต่อจีดีพี และมีหนี้เสียคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้มีสัญญาณว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายพิชัย กล่าว
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของประชาชนส่วนแรก คือ หนี้บ้าน ล่าสุดธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้หาทางแก้ปัญหาหนี้บ้านด้วยการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้นจากเดิม 60-70 ปี ปรับเป็น 80-85 ปี ซึ่งนายกฯ เห็นว่าน่าจะขยายแนวทางนี้ไปยังธนาคารพาณิชย์ จึงสั่งการให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ทำมาตรการในลักษณะนี้
ส่วนหนี้รถยนต์ เบื้องต้นจะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาหนี้รถกระบะ และมอเตอร์ไซค์ เนื่องจากเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ล่าสุดกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาแนวทางการดูแล โดยจะหารือกับบริษัทรถยนต์ และตัวแทนขาย เพื่อหาทางช่วยเหลือลูกนี้ที่เป็นหนี้เสียและถูกยึดรถยนต์
ขณะที่หนี้บัตรเครดิตนั้น พบว่าปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังหาทางดูแลหนี้กลุ่มดังกล่าวเช่น การจัดทำคลินิกแก้หนี้ เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกันนี้นายกฯ ยังขอให้กระทรวงการคลัง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาปรับเงื่อนไขการชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 8% ลดลงเหลือ 5% ได้หรือไม่
นายพิชัย กล่าวว่า ที่ประชุมยังมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปเร่งพิจารณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเฉพาะการคำนวณยอดหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ที่จ่ายเงินเกินอยู่ที่ 1.7 แสนราย คิดเป็นเงิน 2,100 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะรีบคืนเงินกลับไปให้ อีกส่วนคือ 2 ล้านรายกำลังคำนวณยอดหนี้ คิดเป็นเงินกว่า 54,000 ล้านบาท
ส่วนปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง ได้ขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบ หลักการของรัฐบาลจะพยายามหาทางดึงหนี้เหล่านี้เข้ามาในระบบต่อไป
“กระทรวงการคลังจะกลับไปคิดวิธีต่าง ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ขอเวลาอีกสักพัก โดยอาจวิธีการแก้แบบนอกกรอบคาดว่าในเร็ว ๆ นี้จะเห็นชัดเจนขึ้น” รองนายกฯ ระบุ