TEMU ทุบเศรษฐกิจไทย ถล่มอีคอมเมิร์ซโลก ตั้งรับก่อนล้มเป็นโดมิโน

01 ส.ค. 2567 | 05:32 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2567 | 06:04 น.

TEMU อีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน บุกไทยทุบเศรษฐกิจ หลังสร้างปรากฏการณ์โตรวดเร็วรุนแรง ถล่มอีคอมเมิร์ซโลกอย่าง Amazon มาแล้ว ไทยต้องตั้งรับอย่างไร ก่อนเศรษฐกิจไทยล้มเป็นโดมิโน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการไทยทราบดีถึงความยากลำบากที่ต้องต่อสู้กับสินค้าจีนที่ผลิตออกมาอย่างล้นเกิน สินค้าเหล่านั้นไหลบ่าเข้าไปยังประเทศต่างๆ ด้วยราคาขายที่ถูกกว่า เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามากๆ 

TEMU เว็บ E-Commerce เจ้าใหม่ที่เพิ่งบุกเข้ามาเปิดตลาดในไทย ได้สร้างความอกสั่นขวัญผวาให้กับผู้ประกอบการชาวไทยไม่น้อย เพราะแม้แต่E-Commerce รายใหญ่ของสหรัฐฯอย่าง Amazon ก็ยังสะเทือนจากการรุกคืบของTemu โดยในปี 2023 Temu มีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคนในสหรัฐฯ และมียอดขายสินค้ารวมถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ ที่เจ้าของเพจ Trick of the Trade และ Founder อะไรเอ่ย กรุ๊ป อดีตผู้ประสบภัยจากสินค้าจีนถล่มไทยรุ่นแรกๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ได้ให้ข้อสรุปของTEMU ไว้ว่าเป็นแพลทฟอร์มขายของที่เน้นขายถูก โรงงานลงมาลุยกันเอง

TEMU เน้นให้โรงงานผู้ขายในแพลตฟอร์มนี้ผลิตให้ได้ scale ที่สุด โดยไม่ต้องสนใจเรื่องแบรนด์  เน้นขายของเป็นชิ้น ไม่ใช่มีหน้าร้านแบบ shopee ,lazada และร้านที่เปิดขายของในTemu คือโรงงานจีนเท่านั้น เป็นการขายจากโรงงานสู่ลูกค้าโดยตรง

รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ สนทนากับคุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งPaySolutions และ Creden.co ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ เพื่อหาวิธีตั้งรับกับการถล่มตลาดจาก Temu ซึ่งแม้จะเข้ามาแล้วในไทยแต่ยังทันหากเร่งแก้สถานการณ์ โดยที่ภาครัฐต้องรีบจับมือกับเอกชน สมาคมต่างๆ พ่อค้าแม่ค้าต่างๆ อย่างจริงจัง

คุณป้อมสะท้อนปัญหาว่าในวันนี้ภาคเอกชนยังไม่ได้เห็นภาครัฐออกมาพูดถึงเรื่องนี้เลย มีแต่เอกชนที่ร้องปาวๆว่าถูกสินค้าจีนโจมตีจนธุรกิจกำลังจะไปต่อไม่ไหวแล้ว ทั้งที่ผลกระทบจากการบุกเข้ามาไทยของTemu จะทำให้เศรษฐกิจไทยล้มเป็นโดมิโน คืออันดับแรกหากคนไทยแห่ไปซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มนี้ สุดท้ายจะทำให้ผู้ประกอบการไทย เอสเอ็มอีไทย ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้ามาจำหน่าย จะไม่สามารถต่อสู้ได้เลย เพราะสินค้าเหล่านี้มาจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรงจึงมีราคาถูกมากๆ

TEMU ทุบเศรษฐกิจไทย ถล่มอีคอมเมิร์ซโลก ตั้งรับก่อนล้มเป็นโดมิโน

ในขณะที่ผู้นำเข้าเพื่อมาจำหน่ายในไทย ต้องมีการจ่ายภาษีขาเข้า ต้องขออนุญาตเพื่อให้ได้มาตรฐานต่างๆเช่น อย. ,มอก. ต่างๆกว่าจะขายได้ แต่สินค้าจากTEMU ไม่ต้องมีต้นทุนเหล่านี้ เมื่อสู้ไม่ได้ไปเรื่อยๆสุดท้าย ผู้ผลิตไทยต้องปิดโรงงาน เลิกจ้างพนักงาน สุดท้ายเศรษฐกิจไทยก็จะหดตัวลงเรื่อยๆ การขายในแพลตฟอร์มจีน เงินจะถูกกระชากออกจากประเทศทั้งหมด

ความน่ากลัวของ TEMU ซึ่งต่างไปจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่นๆเพราะแม้TEMU ซึ่งมีPinduoduo บริษัทแม่ในจีน จะมาทีหลังAlibaba แต่มีอัตราการเติบโตที่แรงและรวดเร็วมาก มีจุดเด่นที่ขายถูกมาก เป็นสินค้าจีนเกือบ 100% พ่อค้าแม่ค้าคนไทยไม่สามารถเป็นร้านในTEMUได้ในขณะนี้ และTEMU ยังไม่มีการเปิดบริษัทนิติบุคคลในประเทศไทย นั่นแปลว่าเงินจากการขายของให้คนไทยจะออกนอกประเทศ 100% โดยรัฐบาลไทยไม่ได้ภาษีสักบาทเดียว

TEMU ฉีกกฎในการทำธุรกิจออนไลน์ เพราะผู้ขายจะได้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของตลาด (ทั้งโลก) ฟรี ว่าตอนนี้มีความต้องการสินค้าแบบไหนบ้าง ขายอะไรกันอยู่บ้าง เพื่อให้ผู้ขายลดการเสียเงิน เสียเวลาในการมัวไปงมว่าอะไรขายดี จากนั้นก็จะได้ไปโฟกัสการผลิตให้ถูกที่สุดออกมาขาย สามารถสต็อกสินค้าเท่าที่จำเป็น ซึ่งต่างจาก shopee ,lazada ที่ผู้ขายไม่เคยได้ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ผู้ค้าที่เข้าร่วมกับTEMU สามารถพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้น กดราคาสินค้าให้ต่ำลงไปได้อีก

เมื่อถามถึงแนวทางแก้ปัญหาเพื่อรับมือให้ได้กับสถานการณ์เช่นนี้ คุณภาวุธ ให้ความเห็นว่าภาครัฐจะต้องตรึงกฎหมายให้เข้มงวดขึ้น เพราะการที่ทุกวันนี้จีน หรือต่างชาติสามารถเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้อย่างอิสระเสรี เป็นเพราะมีช่องโหว่ของกฎหมายไทยที่หย่อนยาน ต้องตั้งคำถามว่าการที่สินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยได้เยอะ เพราะชายแดนปล่อยหรือไม่ เพราะด่านตรวจสินค้าปล่อยไปหรือไม่

ทุกวันนี้มีบริการนำเข้าสินค้าจากจีนมาไทยภายใน 5วัน พร้อมเครื่องหมาย มอก. หรือ อย. ให้หมดเลย ดังนั้นจึงมีสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐานผ่านเข้ามาในไทย จุดนี้รัฐต้องเข้าไปปิดกั้นซึ่งทำได้เลย ข้อต่อมาคือกระทรวงพาณิชย์ต้องเข้าไปดูว่าบริษัทที่เปิดทำธุรกิจในไทยมากมายที่มีเจ้าของเป็นคนจีน ใช้นอมินีหรือเปล่า ทำธุรกิจถูกต้องหรือไม่ ที่เข้ามาครอบงำธุรกิจคนไทย 

เมื่อทำกฎที่มีอยู่เดิมให้เข้มแข็งได้แล้ว ต่อมาก็ต้องมาดูว่าธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ รัฐต้องเข้าไปดูเข้าไปเยียวยา เข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพให้เก่งขึ้น หรือปรับกฎหมายอะไรบางอย่างเพื่อชะลอจีนให้เข้ามาได้ช้าลง เช่น การเคร่งครัดเรื่องการขอมาตรฐานต่างๆ หรือตั้งหลักเกณฑ์เรื่องไลเซนส์ต่างๆ เพราะปัจจุบันนี้สินค้าจีนหลายรายมีการระบุหมายเลข อย.ปลอม หรือ มอก.ปลอม