เลือกตั้งสหรัฐฯ : 5 เหตุผลด้านเศรษฐกิจที่จีนสนับสนุนทรัมป์ 2.0

31 ก.ค. 2567 | 02:21 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 04:21 น.

เลือกตั้งสหรัฐ 2024 หาก "โดนัลด์ ทรัมป์" กลับมา นโยบายต่อจีนอาจไม่เหมือนเดิมหรือไม่ ทั้งความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนในยุคหลังเลือกตั้ง แรงกดดันทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง

การนึกถึงภาพโลกก่อนที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2017 แสดงให้เห็นภาพในเวลานั้นถึงแนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโลกยังไม่ได้รับการยอมรับในสหรัฐฯ การกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการได้ รวมถึงการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี

นักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์จาก foreignpolicy มองว่า ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทรัมป์เปลี่ยนแปลงโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำยั่วยุของทรัมป์เกี่ยวกับจีน ซึ่งรวมถึงคำสัญญาที่จะยกระดับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้เชื่อได้ง่ายว่าผู้นำจีนจะเลือกประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ มากกว่าทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน มีการวิคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์

จีนรู้ดีว่าไม่มีความหวังที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯจะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ โจ ไบเดน กมลา แฮร์ริส

กมลา แฮร์ริส รณรงค์หาเสียงในแมสซาชูเซตส์ เครดิตภาพ : reuters

หรือประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดก็ตาม จากมุมมองของแผนการระยะยาวของจีนที่มีต่อตะวันตก การที่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาวอาจกลายเป็นผลดีต่อจีนอย่างน้อยก็ใน "ด้านเศรษฐกิจ"

5 เหตุผลว่าทำไมจีนสนับสนุน "โดนัลด์ ทรัมป์"

ทรัมป์จะเพิ่มความแตกแยกระหว่างสหรัฐและยุโรป

ในเดือนธันวาคม 2023 Financial Times รายงานว่าหน่วยข่าวกรองของจีนได้ใช้ Frank Creyelman อดีตวุฒิสมาชิกเบลเยียซึ่งถูกกล่าวหาว่าถูกจีนจ้างให้ไปสอดส่องยุโรป โดยได้สรุปวัตถุประสงค์ของความสัมพันธ์นี้ไว้ว่า จุดประสงค์คือการแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป

เหตุผลของจีนก็คือ สร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างสหรัฐฯและยุโรปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนโยบายที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของจีน เช่น การควบคุมการส่งออกร่วมกัน จากมุมมองนี้ การที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สองจะเข้าข้างจีน

"ผมคิดว่าสหภาพยุโรปเป็นศัตรูในสิ่งที่พวกเขาทำกับเราในทางการค้า" ทรัมป์กล่าวในปี 2018 และไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเขาเปลี่ยนใจแล้ว

โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันและอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังแสดงท่าทางระหว่างงานหาเสียงในเมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2024 เครดิตภาพ : reuters

หากได้รับการเลือกตั้ง ทรัมป์ก็คงไม่สามารถต้านทานแรงกระตุ้นที่จะเริ่ม สงครามการค้า กับยุโรปอีกครั้งได้ เช่น การทำตามคำมั่นสัญญาที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10%  ในทางกลับกัน การต่อสู้ทางการค้าก็อาจทำให้ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีนหยุดชะงัก 

แน่นอนว่าคำมั่นสัญญาล่าสุดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนขั้นต่ำ 60% ก็สร้างความเจ็บปวดให้กับจีนเช่นกัน แต่ในภาพรวมจีนอาจถือว่า การจ่ายในราคานี้คุ้มค่า หากรางวัลคือ การแตกแยกระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ? 

ทรัมป์อาจเปลี่ยนใจเรื่องการคว่ำบาตรรัสเซีย

แม้ว่านโยบายต่างประเทศของทรัมป์จะคาดเดาไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือแนวโน้มที่ชัดเจนของเขาในการผูกมิตรกับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุดในการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่ฟินแลนด์ในปี 2018 เมื่อทรัมป์บอกว่า เขาไว้ใจปูตินมากกว่าหน่วยข่าวกรองของตัวเอง หากเขายังคงชื่นชมปูตินอยู่ ทรัมป์อาจตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประเทศในยุโรปเป็นอย่างมาก สถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้รัสเซียพอใจ แต่ยังส่งผลดีต่อจีนด้วย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ปูติน ของรัสเซีย จับมือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมข้างสนามการประชุมสุดยอด G20 ที่โอซากะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2019 เครดิตภาพ : reuters

แม้จะมีการประกาศมิตรภาพไร้ขีดจำกัดระหว่างรัสเซียและจีน แต่ความจริงก็คือบริษัทจีนระมัดระวังในการติดต่อกับรัสเซีย แม้ว่าการส่งออกของจีนไปยังรัสเซียจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2022 แต่ตัวเลขนี้มาจากฐานที่ต่ำและจนถึงขณะนี้ก็มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่าบริษัทจีนกำลังรีบลงทุนในรัสเซีย เนื่องจากความกังวลว่าวสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการคว่ำบาตรทางอ้อมต่อมอสโกส่งผลให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกต้องเลือกระหว่างลูกค้าในสหรัฐฯ และรัสเซีย

ทรัมป์จะสนับสนุนให้จีนผลักดันกลไกทางการเงิน

จีนพยายามหาวิธีป้องกันตัวเองจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มานาน ไม่ว่าจะเป็นการเลิกใช้ สกุลเงินดอลลาร์ การสร้างทางเลือกอื่นแทน ระบบธนาคาร SWIFT ระดับโลกที่ควบคุมโดยชาติตะวันตก หรือ แผนสำหรับเงินหยวนดิจิทัลเพื่อชำระเงินข้ามพรมแดน เเต่จีนไม่สามารถบรรลุกลยุทธ์นี้ได้ด้วยตัวเอง

หากต้องการให้โครงสร้างทางการเงินของชาติตะวันตกเข้ามาแทนที่โครงสร้างทางการเงินที่มีอยู่เดิม เส้นทางที่จะไปถึงจุดนั้นต้องยากลำบาก บริษัทและธนาคารส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเลิกใช้ SWIFT ซึ่งใช้ได้ผลดี 

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่สองของทรัมป์อาจเปลี่ยนเหตุผลนี้ได้ กรณีบริษัทผลิตอลูมิเนียมของรัสเซียอย่าง Rusal ในปี 2018 แสดงให้เห็นว่าหลังจากคว่ำบาตรบริษัทดังกล่าวโดยไม่แจ้งเตือน รัฐบาลทรัมป์ต้องรีบกลับคำและยกเลิกการคว่ำบาตรทันทีหลังจากตระหนักว่ามาตรการนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก

ภายใต้การบริหารของทรัมป์ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ และใครๆ ก็สามารถตกอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรได้โดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น หลายประเทศจึงพยายามป้องกันตนเองจากมาตรการดังกล่าว หากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว วิธีที่ดีที่สุดที่คือ เปลี่ยนไปใช้กลไกทางการเงินทางเลือกของจีน

ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เครดิตภาพ reuters

ทรัมป์ทำให้จีนมีอำนาจในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศกำลังพัฒนา

การต่อสู้เพื่ออิทธิพลในระดับโลกทำให้ตะวันตกต้องต่อสู้กับจีนเพื่อแย่งชิงแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ "พลังงานสีเขียว" เช่น โคบอลต์ ทองแดง กราไฟต์ ลิเธียม และนิกเกิล จนถึงขณะนี้ การต่อสู้นี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เช่น โบลิเวีย บราซิล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กินี และอินโดนีเซีย โดยจีนควบคุมการกลั่นลิเธียมในระดับโลกอยู่ราว 50 ถึง70 %

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เป็นครั้งที่สองจะไม่ช่วยโน้มน้าวให้ประเทศกำลังพัฒนาหันมาร่วมมือกับสหรัฐในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ รัฐที่อุดมด้วยแร่ธาตุหลายแห่งอาจกังวลว่าคำสัญญาของทรัมป์จะมีค่าเล็กน้อย ซึ่งเห็นได้จากคำถอนตัวกะทันหันของเขาจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2018

จีนได้รับประโยชน์จากการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีสะอาดของสหรัฐฯ

การจำกัดการส่งออกเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับสหรัฐฯ ในการดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นจีนในการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมาตรการเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยีที่มีการใช้งานสองแบบเช่น เซมิคอนดักเตอร์ AI  และเทคโนโลยีควอนตัม

เทคโนโลยีสะอาดยังไม่ถูกควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ แต่หากทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี พรรครีพับลิกันก็อาจเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ พรรครีพับลิกันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับจีนและพยายามใช้การควบคุมการส่งออกกับภาคส่วนต่างๆมากกว่าที่รัฐบาลของไบเดน ซึ่งอาจรวมถึงเทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีแบตเตอรีด้วย

หากมองจากจีน การควบคุมการส่งออกสินค้าสีเขียวของสหรัฐฯ ถือเป็นข่าวดี ในระยะสั้นถึงระยะกลาง มาตรการนี้จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อบริษัทจีน เนื่องจากจีนเป็นผู้นำระดับโลกในภาคส่วนต่างๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และรถยนต์ไฟฟ้า อยู่แล้ว

ระยะยาว ธุรกิจจีนอาจได้รับประโยชน์จากการควบคุม หากขาดตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทของสหรัฐฯ จะมีรายได้น้อยลงและถูกบังคับให้ลดงบประมาณการวิจัยและพัฒนา ธุรกิจจีนจะสามารถทุ่มทุนด้านการวิจัยมากขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทต่างๆ ของจีนแซงหน้าบริษัทของสหรัฐฯ ได้ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีสะอาดรุ่นต่อไป

นอกจากนี้ที่สหรัฐฯ ลดบทบาทผู้นำด้านเทคโนโลยีสะอาดจะช่วยให้จีนมีอิทธิพลต่อมาตรฐานระดับโลกสำหรับสินค้าเทคโนโลยีสะอาดในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้จีนได้รับชัยชนะรอบด้าน