วิธีใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปทางรัฐ

06 ส.ค. 2567 | 08:48 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2567 | 08:59 น.

เรียนรู้วิธีใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลรับเงิน 10,000 บาทผ่านแอปทางรัฐ ขั้นตอนการลงทะเบียน การใช้จ่าย และข้อควรรู้สำหรับประชาชนและร้านค้า

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้ออกมาชี้แจงถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อบัญชีธนาคารของประชาชนกับแอปทางรัฐที่ใช้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท

โดยยืนยันว่าในปัจจุบัน แอปทางรัฐยังไม่มีการเชื่อมต่อบัญชีธนาคารของประชาชนแต่อย่างใด โดยแอปนี้เป็นเพียงแอปที่ใช้สำหรับการลงทะเบียน และการตรวจสอบสถานะและการรับสิทธิ์โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะประกาศผลการรับสิทธิตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2567 เป็นต้นไป เท่านั้น

ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐและได้รับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถสร้าง"กระเป๋าเงินดิจิทัล" จากแอปของธนาคารหรือผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าร่วมโครงการ

กระเป๋าเงินดิจิทัลนี้เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินแบบ Open Loop ที่เชื่อมต่อกับธนาคารหรือผู้ให้บริการรายหนึ่งรายใด และใช้ในการรับและจ่ายเงินไม่ได้เกินสิทธิ์ที่ได้รับ 10,000 บาท

ในกระบวนการใช้จ่าย รอบแรก ประชาชนสามารถใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลในการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าขนาดเล็กในอำเภอที่ลงทะเบียนไว้ โดยสามารถใช้สิทธิ์ในการใช้จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท

เมื่อถึงรอบที่สอง ร้านค้าขนาดเล็กสามารถนำเงินที่ได้รับจากการขายสินค้าในรอบแรกมาใช้จ่ายต่อในร้านค้าทุกประเภท โดยร้านค้าที่ได้รับเงินจากการซื้อสินค้าของร้านค้าในรอบ 2 สามารถถอนเงินสดจากบัญชีธนาคารที่เชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ หากร้านค้านั้นอยู่ในระบบภาษี

ตั้งแต่รอบที่สามขึ้นไป ร้านค้าขนาดเล็กสามารถทำธุรกรรมกับร้านค้าทุกประเภทโดยไม่มีข้อจำกัดในการซื้อขายสินค้า

ทั้งนี้ ร้านค้าที่สามารถรับการชำระเงินจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ยกเว้นห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่เป็นระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

วิธีใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถเปิดใช้งานแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อทำธุรกรรม โดยประชาชนจะต้องสแกน QR Code ของร้านค้าเพื่อชำระเงิน โดยหน้าจอจะแสดงจำนวนเงิน และยืนยันการชำระเงินเมื่อทำรายการสำเร็จ

ขณะที่ร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็กรวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

ร้านค้าที่จะสามารถถอนเงินสดได้ เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และมีคุณสมบัติ ดังนี้

1.ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ได้แก่

1.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ

1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ

1.3 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ร้านค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีข้างต้นต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี ดังนี้

1.  กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2565 และ 2566 ติดต่อกัน 2 ปี

2. กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการน้อยกว่า 2 ปี จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ติดต่อกันตั้งแต่เริ่ม ประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน

3. ร้านค้าใหม่ที่ยังไม่ครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในปีภาษีแรกหรือรอบระยะเวลา บัญชีแรกจะพิจารณาจากการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น