"การบินไทย" ดีเดย์ 30 ก.ย.นี้ ยื่นไฟลิ่ง แปลงหนี้เป็นทุน

27 ก.ย. 2567 | 21:44 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2567 | 10:03 น.

การบินไทย ดีเดย์ 30 กันยายน 2567 นี้ ยื่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุน เดินหน้าปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตั้งเป้าออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ พร้อมกลับมาเทรดได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การบินไทยเตรียมจะยื่นไฟลิ่ง  ในการออกหุ้นเพิ่มทุน ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้เพื่อเตรียมปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะประกอบด้วย 

ชาย เอี่ยมศิริ

การแปลงหนี้เป็นทุน 

การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุน (Mandatory Conversion)

  • การแปลงหนี้ในสัดส่วน 100 % เป็นทุน ของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง การแปลงหนี้ในสัดส่วน 24.50 % ของมูลหนี้เป็นทุน เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้)

สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) 

  • สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31 ข้างต้น 

การออกหุ้นเพิ่มทุน

การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ 

ทั้งนี้การบินไทยจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้

"การบินไทยจะยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาปรับโครงการทุนครั้งนี้ มีรายละเอียดมากถึง 1,000 หน้า ซึ่งประกอบการ ข้อมูลบริษัท แผนธุรกิจ แผนจัดหาเครื่องบิน โดยมั่นใจว่าจะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว"

หลังจากนั้นกระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และกระบวนการเสนอขาย และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม 2567

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ และที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงระยะเวลาในการพิจารณาให้หนังสือชี้ชวนมีผลบังคับใช้ของ ก.ล.ต.

โดยการบินไทยคาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้งบการเงินประจำปี 2567 ของบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ

บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568

นายชาย ยังกล่าวต่อว่า ก่อนการเพิ่มทุน เราได้เรียกประชุมเจ้าหนี้ ที่จะต้องมีการแปลงหนี้เป็นทุน มาอัพเดทสถานการณ์ เราเริ่มทำไปแล้ว 2 กลุ่ม และต้นเดือนหน้าก็จะมีกลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม คือ เจ้าหนี้สหกรณ์ การบินไทยต้องไปทำความเข้าใจ

เพราะเจ้าหนี้ทุกกลุ่มตอนนี้ ที่เป็นเจ้าหนี้รัฐ  เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ มีสิทธิ์ที่จะแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากที่แผนกำหนดไว้ 24.5% ยังมีสิทธิ์แปลงเพิ่มได้อีก ซึ่งก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย

ข้อดี ก็คือ ถ้าตามแผน จะมีแผนการชำระหนี้ตามแผน เจ้าหนี้ที่ไกลที่สุด ณ วันนี้ คือเจ้าหนี้หุ้นกู้ วันนี้ไปกว่าเราจะจ่ายเงินครบตามแผน งวดสุดท้ายก็ประมาณอีก 12 ปี ตามแผนบอกว่าเจ้าหนี้กลุ่มเหล่านี้สามารถจะแปลงหนี้เป็นทุนได้ แปลว่าสุดท้ายแล้วก็จะได้รับการชำระหนี้เร็วกว่าที่กำหนดในแผน แต่เร็วกว่าในรูปของการถือหุ้น ซึ่งการถือหุ้นนั้น เจ้าหนี้หุ้นกู้จะได้สิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในราคา 2.5452 บาท

การบินไทยได้จัดหาที่ปรึกษาการเงินอิสระ มาประเมินมูลค่าหุ้น ให้เจ้าหนี้เห็นว่ามูลค่าหุ้นการบินไทย ที่กำลังจะเพิ่มทุนมีมูลค่าเท่าไหร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จราวต้นเดือนตุลาคมนี้ และการบินไทยก็มีที่ปรึกษาทางการเงินอีกชุดหนึ่ง  มาประเมินมูลค่าหุ้นด้วยเช่นกัน

ผู้บริหารแผนจะกำหนดราคาหุ้น ที่จะขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งจากการประเมิน ก็คาดว่า สูงกว่า 2.5452 บาท คือสูงกว่าที่เจ้าหนี้ได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน เพราะฉะนั้นสิทธิ์ของเจ้าหนี้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม จะได้ราคาต่ำกว่าผู้ถือหุ้นรายใหม่ และผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละกลุ่มเจ้าหนี้

ส่วนของผู้ถือหุ้นใหม่ หรือหุ้นใหม่ ถ้าเราใช้ 2.5452 บาทเป็นตัวตั้ง ต่ำสุดก็ควรจะเป็น 25,000 ล้านบาท ถ้าราคาหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะส่วนของหุ้นเพิ่มทุนอยู่ที่ประมาณ 9,800 กว่าล้านหุ้น  ถ้าเพิ่มขึ้น 1 บาท จาก 2.5452 บาท ก็คือเท่ากับเพิ่มขึ้น 9,800 ล้านบาท

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐ ในขณะนี้ยังไม่สามารถทราบได้แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะมีการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมไหม 

การปรับโครงสร้างทุนของการบินไทย

แต่ส่วนของกระทรวงการคลัง เท่าที่ดูตามซีนาริโอ น่าจะต่ำกว่าเดิม ต่ำกว่าปัจจุบัน อาจจะอยู่ระหว่าง 30-45 % ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ด้วยว่าจะแปลงหนี้เป็นทุนได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นเดิมที่เรามีอยู่ในตลาด โดยในแผนฟื้นฟูระบุชัดว่าผู้บริหารแผนมีหน้าที่จะไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ