จากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จากต้นปี 2567 เฉลี่ยที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุด (25 ก.ย. 2567) แข็งค่าที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติแข็งค่ามากสุดในรอบ 30 เดือน ในมุมของภาคการท่องเที่ยว มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่เกิดขึ้น
นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การแข็งค่าของเงินบาท ก็อาจมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยบ้าง ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไป เพราะเมื่อบาทแข็งค่า ก็จะทำให้คนเดินทางมาเที่ยวไทยแพงขึ้น แต่ผมก็คิดว่าช่วงต้นนักท่องเที่ยวอาจจะรู้สึกบ้าง แต่ผ่านไปสักพักก็คงกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในอีกไม่นาน ที่ผ่านมาไทยก็ผ่านสถานการณ์บาทแข็งมาแล้วหลายรอบ เรื่องนี้ไม่ได้กระทบถึงขนาดเป็นปัจจัยที่เป็นนัยสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทย
ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ปัจจุบันการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่มีค่าเงินบาทแข็งตัวในอดีต อาจทำให้มูลค่าเงินต่างชาติลดลงเล็กน้อย แต่ไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการท่องเที่ยวลดลง เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องของส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างดี และส่วนใหญ่ก็ตั้งใจจะมาใช้จ่ายเงินอยู่แล้ว จึงมีการเตรียมเงินที่เพียงพอตั้งแต่ต้นทาง
เมื่อมาถึงปลายทางที่ประเทศไทยค่าเงินอาจจะลดลงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจในการใช้จ่ายแต่อย่างไร ยังคงใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวจากแต่ละประเทศ แม้ในเชิงจิตวิทยา อาจจะมีบ้าง แต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าอยู่แล้ว
ทั้งนี้ล่าสุดตัวเลขเบื้องต้นจากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 22 กันยายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวม 25,413,227 คนแล้ว โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. นักท่องเที่ยวจีน 5,107,697 คน 2. มาเลเซีย 3,643,753 คน 3. อินเดีย 1,485,017 คน 4.เกาหลีใต้ 1,347,069 คน 5. รัสเซีย 1,137,867 คน
นายรณรงค์ ชีวินสิริอำนวย นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน (ทีซีทีเอ) เปิดเผยว่า บาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับขณะนี้หลายประเทศส่งเสริมการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปเที่ยวในประเทศตัวเอง ทำให้การท่องเที่ยวมีการแข่งขันสูงมาก รวมถึงมีหลายประเทศที่ค่าเงินถูกลง
ทำให้ดึงความสนใจน่าเข้าไปเที่ยวได้มากกว่า อาทิ ญี่ปุ่น ที่เงินเยนอ่อนค่าลง เมื่อนักท่องเที่ยววางแผนการท่องเที่ยวแล้วพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าเดิม ทำให้ต้องจ่ายแพงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
ในขณะเดียวกันก็จะเห็นคนไทยออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น วันนี้เราเห็นคนไทยเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศมาจีนสูงขึ้นแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะวีซ่าฟรีระหว่างกันทำให้สามารถเดินทางได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เมื่อเงินบาทแข็งก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้คนออกไปเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงจีนได้มากขึ้น
เพราะแลกเงินสกุลต่างประเทศได้มากกว่าเดิม อาทิ เดิมจะแลก 1 หยวน ต้องใช้เงินบาทที่ 5 บาท แต่ขณะนี้ใช้แลกเพียง 4.67 บาทเท่านั้น และหากค่าเงินแข็งมากขึ้น ก็จะแลกได้ถูกลงอีก กังวลคือ ค่าเงินบาทจะแข็งค่ายาวนาน ทำให้คนไทยวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย เพราะตอนนี้ก็สามารถแลกเงินสะสมไว้ใช้ทีหลังได้แล้ว จะไปเที่ยวตอนไหนก็ทำได้ง่ายกว่าเดิม
นางสาวเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การบินไทยได้ประเมินสถานการณ์ไว้แล้วว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการบินไทย ที่จะช่วยลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากต้นทุนหลัก อย่าง ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าปฏิบัติการบินในต่างประเทศจะเป็นสกุลเงินต่างชาติ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะลดลง แตกต่างจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่บาทอ่อนค่า ส่งผลให้การบินไทยขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
หน้า 10 ฉบับที่ 4,031 วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567