สภาพัฒน์ฯ เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ 3% สูงกว่าที่ตลาดคาดจะโตที่ 2.4-2.7% ภาพรวมสามไตรมาสแรกจีดีพีขยายตัว 2.3% โดยทั้งปี 2567 สภาพัฒน์คาดจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 2.6% และปี 2568 คาดจะขยายตัว 2.3- 3.3%
อย่างไรก็ดีแม้จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้จะกลับมาขยายตัวดีขึ้น จากไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 1.5% และไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 2.2% ตามลำดับ แต่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนแล้ว การเติบ โตของจีดีพีไทยยังอยู่รั้งอันดับท้าย ๆ อาทิ จีดีพีเวียดนามไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ 7.4% ฟิลิปปินส์ 5.2% มาเลเซีย 5.3% อินโดนีเซีย 4.9% และสิงคโปร์ขยายตัว 4.1%
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มการบริโภคของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ภาคเอกชนเป็นอีกภาคส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ มีข้อเสนอรัฐบาลในการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลที่ออกมาที่เห็นชัดเจนอยู่ในรูปการแจกเงินสด 1 หมื่นบาท แก่กลุ่มเปราะบางในรอบแรกไปแล้ว 14.5 ล้านคน คิดเป็นเงิน 145,000 ล้านบาท ล่าสุดในเฟสที่ 2 ที่จะแจกให้กับประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีกลุ่มเป้าหมาย 3-4 ล้านคน ใช้งบประมาณไม่เกิน 40,000 ล้านบาท จะจ่ายก่อนเทศกาลตรุษจีนปี 2568 (ก่อน 28 ม.ค.) ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ที่ลงทะเบียนไว้ยังต้องรอในเฟสต่อไป
ล่าสุดรัฐบาล ได้เห็นชอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านธนาคารเฉพาะกิจภาครัฐ และธนาคารพาณิชย์ในการพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ระยะเวลา 3 ปี ให้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี ในส่วนของหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้จากการบริโภค คิดเป็นมูลค่ารวม 1.2-1.3 ล้านล้านบาท และกำลังพิจารณาช่วง 3 ปีแรกให้ปรับวงเงินผ่อนชำระให้ลดลงกว่าเดิม รวมถึงเตรียมพิจารณาในการแจกเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครอบครัว ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมายังต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
อย่างไรก็ดี มองว่ายังมีอีกหลายมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปลายปีนี้ รวมถึงในปีหน้าได้โดยในช่วงปลายปีเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย รัฐบาลต้องเร่งโปรโมท หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อสร้างเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในระบบมากขึ้น นอกจากนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ของรัฐบาลที่ออกมา ควรเร่งการเบิกจ่ายให้ลงสู่ระบบมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งงบด้านการลงทุนของภาครัฐในโครงการก่อสร้าง และการลงทุนด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ทั่วประเทศ
“การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว สามารถทำได้อีกเยอะ จากที่ได้ไปหลาย ๆ ประเทศมา เปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว เรามีข้อได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความหลากหลาย วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงในเรื่องความปลอดภัย และค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวของไทยก็ไม่สูงเกินไป ราคาสมเหตุสมผล ดังนั้นปลายปีนี้ต้องเร่งอัดกิจกรรม และโปรโมทการท่องเที่ยวของเราอย่างเต็มที่ และปรับปรุงเส้นทางคมนาคมให้สะดวกเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเมืองรอง หรือเมืองน่าเที่ยว”
นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐแล้ว ต้องเร่งดึงการลงทุนจากต่างประเทศที่จะมาช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้เข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้ไปต่อ รวมถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาส จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยาวได้อีกทางหนึ่ง
“ปี 2567 น่าจะเป็นปีที่ทุกอย่างเริ่มเข้าที่ในเรื่องของเศรษฐกิจภาพรวม ถ้าไม่มีเหตุการณ์หรือความขัดแย้งใหม่ ๆ ที่รุนแรงมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศในปี 2568 มีโอกาสที่เศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3%”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ทางกกร. ได้เข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือประเด็นทางเศรษฐกิจและได้ยื่นสมุดปกขาวข้อเสนอของภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน
ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้นำเสนอเป็นวาระเร่งด่วนคือ 1.ขอให้มุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจไปยังกลุ่มเปราะบางเป็นสิ่งเร่งด่วนก่อน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว2.ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ สามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณ2 เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากและ 3.สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ โดยรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ
นอกจากนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ (รถกระบะ) ที่เป็นเครื่องมือจำเป็นในการทำมาหากินของประชาชน จำเป็นต้องมีมาตรการผ่อนผันเพื่อบรรเทาภาระให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ โดยขอให้สถาบันการเงินผ่อนผันหรือยืดเวลาการผ่อนชำระ ยังไม่ต้องยึดรถในตอนนี้
สอดรับกับนางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่ภาคค้าปลีกรอคอย และเชื่อว่าประชาชนเองก็รอคือมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นช้อปช่วยชาติ ช้อปดีมีคืน หรือ Easy e-Receipt ที่จะมาเป็นแรงจูงใจให้คนออกมาจับจ่ายมากขึ้น เพราะมองว่า คุ้มค่ากับการที่ต้องใช้จ่ายเงินออกไป อีกทั้งปีนี้บรรยากาศการจับจ่ายมาเร็วกว่าทุกปี เห็นได้จากการที่ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าต่างตกแต่ง และเริ่มออกแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
“อยากให้มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐออกมาเร็วๆ เพราะวันนี้ห้างและศูนย์การค้าต่างเตรียมพร้อมด้วยการจัดแคมเปญต่างๆไว้แล้ว ผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์ต่างก็จัดกิจกรรมการตลาดรองรับ หากรัฐมีมาตรการกระตุ้นออกมา เช่น ช้อปดีมีคืน หรืออะไรก็ตาม โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค. นี้ได้เชื่อว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนเพิ่มขึ้นได้จำนวนมาก เมื่อเทียบกับการออกมาตรการในช่วงวันที่ 15 ธ.ค. เป็นต้นไป เพราะครึ่งเดือนหลังเป็นช่วงที่คนเริ่มออกท่องเที่ยว เดินทางไปต่างประเทศ ทำให้การใช้จ่ายในประเทศลดลง”
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมา ไม่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้มากนัก โดยพิจารณาจากมาตราการชุดที่ผ่านมาสะท้อนได้จากไตรมาส 3 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ และเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม มาตรการซื้อ-ซ่อม-สร้าง-แต่ง ซึ่งเป็นมาตรการของกระทรวงการคลังผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสมาคมฯได้ประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อขอทราบรายละเอียด แต่เงื่อนไขยังไม่ชัดเจน
ส่วนมาตรการต่ออายุค่าโอน-จดจำนองที่จะหมดลงปลายปีนี้ คาดว่าราวเดือนธันวาคม น่าจะมีการพูดถึงและนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ขณะเดียวกันมาตรการอื่นอย่างการแจกเงิน 10,000 สำหรับผู้สูงอายุมองว่าไม่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะใช้จ่ายอย่างประหยัด และไม่เป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
มาตรการรัฐที่ออกมาไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน มองว่าตราบใดถ้าสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ ตลาดที่อยู่อาศัยก็จะได้รับผลกระทบ และส่งผลถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาตั้งแต่ชุดแรกทั้งหมดไม่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด อีกประเด็นที่น่าจับตา คือการเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทของรัฐบาล มองว่าจะซ้ำเติมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 เพราะเป็นต้นทุน แต่จะไปปรับราคาบ้านขึ้นย่อมลำบากเนื่องจากกำลังซื้อไม่มี
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตลาดปี 2568 คาดว่ากำลังซื้อจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการรัฐต่างๆออกมามากแค่ไหน แต่ทั้งนี้ มาตรการที่ผู้ประกอบการต้องการ คือการผ่อนปรน LTV (Loan to Value) ปล่อยสินเชื่อสำหรับบ้านหลังที่2 ขึ้นไป 100% เหมือนบ้านหลังแรก รวมถึงธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ หากเป็นไปได้เชื่อว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาดีขึ้นแต่มองว่า คงไม่ง่ายนัก และที่น่าจับตาต่อในปีหน้าที่อาจจะกระทบ เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศและทั่วโลกคือสงคราม
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ต้องเผชิญจนถึงปี 2568 หนีไม่พ้นสถานการณ์ทางการเมืองการเปลี่ยนผ่านผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่มีการลงทุนในภาคการผลิตอย่างมาก
“ภาครัฐควรมุ่งเป้ามีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในการส่งเสริมให้ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจไทยมีเสน่ห์ดึงดูดใจนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และยกระดับกำลังคนทั้งผู้ประกอบการและแรงงานให้มีทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถแข่งขันรองรับการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายการลงทุนมาประเทศไทย”
ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบายที่มีความผันผวน เป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นการค้า การลงทุนของผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การปรับตัวภาคเอกชนเพียงด้านเดียวไม่สามารถเร่งให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจและผลิตภาพทรัพยากรมนุษย์ได้ทันท่วงที
โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจตามท้ายประเทศในแถบอาเซียน ขณะที่ทุกประเทศทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนล้วนส่งเสริมการพัฒนากำลังคน สนับสนุนการเติบโตผู้ประกอบการในประเทศให้โตทั้งในและต่างประเทศ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ผู้ประกอบการไทย
ต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐที่มีการออกแบบนโยบายและดำเนินการด้วยความเข้าใจ “กลับลำคิด ตั้งลำใหม่” ให้โอกาสพัฒนา สร้างการมีส่วนร่วมและผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยเป็น “มนต์เสน่ห์ของนักลงทุน” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สดใสอีกครั้ง