สพฉ. แนะ 10 ขั้นตอน ที่ถูกต้องในการช่วยฟื้นคืนชีพ (cpr)

03 ก.ย. 2559 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2559 | 18:13 น.
สพฉ. แนะ 10 ขั้นตอน ที่ถูกต้องในการช่วยฟื้นคืนชีพ (cpr) ย้ำหากทำถูกวิธีเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้น

นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ว่าคือการปฏิบัติการเพื่อช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้นหรือ คนที่หยุดหายใจอย่างกะทันหัน เพื่อ ทำให้หัวใจที่หยุดเต้น สามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ เลือดไปเลี้ยงสมองได้ มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม

ทั้งนี้ตามหลักแล้วหากสมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก ดังนั้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า “CPR” จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้เป็นอย่างดี โดยอาการนี้อาจจะพบได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจมาก่อนหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน หรือผู้ที่ขาดออกซิเจนเป็นเวลานานๆ ซึ่งหากเราสามารถรู้ถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ถูกวิธี ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิต ลดการบาดเจ็บได้อีก และการช่วยฟื้นคืนชีพจะได้ผลดี ต้องทำใควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ก็จะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึงร้อยละ 45

นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า การฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) มีหลักการง่ายๆ 10 ขั้นตอน ดังนี้ 1.เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัย ก่อนเช้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ 2.ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้จัดท่านอนตะแคง แต่หากยังไม่หายใจ ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป

3.โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 พร้อมกับน้ำเครื่องเออีดีมา 4.ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที 5.ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อน่าที

6.หากมีเครื่องเออีดี ให้เปิดเครื่อง ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก. 7.ติดแผ่นเออีดี หรือแผ่นนำไฟฟ้า บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย 8.ปฏิบัติตามที่เครื่องเออีดีแนะนำ คือ หากเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้า ให้กดปุ่มช็อก และทำการกดหน้าอกหลังทำการช็อกทันที // แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อก ให้ทำการกดหน้าอกต่อไป 9.กดหน้าอกต่อเนื่อง ทำ CPR และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

และ 10. ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัย