29 กันยายน 2565 ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วย นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และพ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงผลการศึกษาผลิตภัณฑ์และรูปแบบสลากเลข 6 หลัก และ สลากเลข 3 หลัก
นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการฯ กล่าวว่า จากการที่สำนักงานสลากฯ ดำเนินการจำหน่ายสลากดิจิทัล ตั้งแต่งวดวันที่ 16 มิถุนายน 2565 จนถึงขณะนี้ ผ่านมาแล้ว 7 งวด มีผลตอบรับจากผู้ซื้อพึงพอใจที่สามารถซื้อสลากหมายเลขที่ต้องการได้และขึ้นเงินรางวัลสะดวก ง่ายไม่ยุ่งยาก โดยการจำหน่ายสลากงวด 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ระยะเวลาในการจำหน่ายสลากดิจิทัลเริ่มใกล้เคียงสมดุล คือ ใช้เวลาประมาณ 10 วัน และเพื่อให้ผู้ซื้อมีระยะเวลาในการซื้อสลากดิจิทัลมากขึ้น จนถึงใกล้วันออกรางวัล
ดังนั้น ในงวดที่ 16 ตุลาคม 2565 จึงได้เพิ่มสลากจากเดิม เป็น 13,964,500 ใบ โดยสลากทั้งหมด เป็นของตัวแทนจำหน่าย 27,929 ราย โดยจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2565 เวลา 06.00 - 23.00 น. ทุกวัน จนกว่าสลากจะหมด และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ถูกรางวัล เตรียมพัฒนาระบบการโอนเงินรางวัลเข้า G-Wallet ในแอป ฯ เป๋าตังซึ่งผู้ที่ถูกรางวัลสามารถโอนต่อไปยังบัญชีของธนาคารใดก็ได้โดยจะสามารถโอนเงินให้กับผู้ถูกรางวัลได้ภายใน 2 ชั่วโมง หลังทราบการผลการออกสลากแล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในเดือนมกราคม 2566
เป้าหมายปีนี้ตั้งเป้าจำหน่ายสลากราคา 80 บาท ประมาณ 20 ล้านใบ ทั้งในระบบดิจิทัลและจุดจำหน่ายสลาก 80 ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 1,047 จุดทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนจะมีทางเลือกในการเข้าถึงสลากราคา 80 บาทมากขึ้น และสะดวกในการรับเงินรางวัลผ่าน G-Wallet ที่ไม่ยุ่งยากจะทำให้สลากดิจิทัลเป็นหนึ่งในตัวช่วยผลักดันให้สลากในตลาดราคาถูกลงได้
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะประธานกรรมการศึกษาผลิตภัณฑ์และเกมสลากรูปแบบอื่น ๆ กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนส่วนเสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบ L6 ซึ่งเป็นหวย 6 หลัก และ N 3 คือ หวย 3 หลัก ว่า ผลการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565 โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสำนักงานฯได้ดำเนินการการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น สรุปได้ว่าผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่เห็นด้วยในประเภทและรูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้ง 2 รูปแบบ
นอกจากนี้ผลการศึกษา เห็นว่า การออกสลากผลิตภัณฑ์ใหม่แบบดิจิทัลจะช่วยแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาได้ แต่ยังคงมีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบในเรื่องของห่วงใยต่อสังคมแต่ก็มีแนวทางและมาตรการในการลดความกังวลใจดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งเรื่องของมาตรการควบคุมและการป้องกันการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของเด็กและเยาวชน รวมถึงการจำกัดปริมาณการซื้อสลากให้เหมาะสมสำหรับผู้ซื้อบางกลุ่ม ตลอดจนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยหลังจากที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เห็นชอบรายงานดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานสลากฯ จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากประจำปี 2565 เพื่อพิจารณานำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สำหรับรูปแบบการขายและการจ่ายเงินรางวัลสลากเลข 3 หลัก ก่อนหน้านี้มีรายงานในเบื้องต้นว่า ตั้งราคาที่ใบละ 50 บาท ส่วนเงินรางวัลจะผันแปรผันตามจำนวนผู้ซื้อ แต่จะอยู่ในกรอบกฎหมายสำนักงานสลาก ที่กำหนดให้จ่ายเงินรางวัล 60% ของยอดจำหน่ายโดยสลาก 1 ใบ สามารถลุ้นได้ 4 รางวัล คือ
1.รางวัล 3 ตัวตรง คาดว่าจะจ่ายเงินรางวัลขั้นต่ำได้ที่ บาทละ 200 บาท
2.รางวัล 3 ตัวสลับหลัก หรือ 3 ตัวโต๊ดคาดว่าจะจ่ายเงินรางวัลขั้นต่ำได้ที่บาทละ 100 บาท
3.รางวัล 2 ตัว คาดว่าจะจ่ายเงินรางวัลขั้นต่ำได้ที่ บาทละ 50 บาท
4.รางวัลแจ็คพ็อต จะจ่ายเงินรางวัล 1% ของ 60% จากยอดขายสลากในแต่ละงวด
ส่วน พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสลากไม่เพียงพอต่อการทำรายการของผู้มีสิทธิ์ทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าฯ นั้น ทางสำนักงานสลากฯ ได้เตรียมแนวทางเพื่อลดปัญหาดังกล่าวโดยจะเปลี่ยนวิธีการทำรายการ จากเดิม ผู้มีสิทธิฯ ต้องทำรายการด้วยตนเอง ทำให้ต้องไปแย่งกันเข้าคิวทำรายการที่หน้าตู้ ATM หรือแย่งกันทำรายการผ่านเน็ตแบงก์ หรือ แอปฯ เป๋าตัง ทางสำนักงานสลากฯ จะดำเนินการสุ่มคัดเลือกเลือกผู้รับสิทธิ์ทำรายการให้เอง
อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำนวนสลากมีน้อยกว่าผู้รับสิทธิ์ ดังนั้น ในส่วนของผู้มีสิทธิ์ทำรายการฯ ที่ไม่ได้รับการสุ่มคัดเลือกในการจองสลากในครั้งแรกนั้น จะได้รับการสุ่มคัดเลือกในรอบถัดไปโดยอัตโนมัติ
สำหรับวิธีการสุ่มคัดเลือกนี้จะได้ผู้มีสิทธิ์สามารถทำรายการในแต่ละงวด โดยเอาจำนวนผู้มีสิทธิ์ในระบบทุกคนมาทำการสุ่มคัดเลือก ให้ได้จำนวนคนพอดีกับจำนวนสลากในระบบที่มีอยู่ที่จะสามารถทำรายการได้ คนละ 5 เล่ม จากนั้น เมื่อได้จำนวนผู้มีสิทธิ์ทำรายการได้ในงวดนี้แล้ว เพียงแค่ผู้สิทธิ์ทำรายการเข้ามายืนยันการทำรายการก็จะได้รับสลากไปจำหน่าย
ส่วนผู้ที่ไม่ได้ถูกสุ่มคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิ์ทำรายการได้ในงวดนั้นก็จะเป็นผู้มีสิทธิ์ทำรายการได้ในงวดหน้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งทางสำนักงานฯ จะทำการสุ่มคัดเลือกให้ได้ผู้มีสิทธิ์ทำรายการในลักษณะเช่นนี้ สลับกันไปทุกงวด ดังนั้น การันตีได้ว่า จะไม่มีผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ทำรายการได้ติดต่อกันเกินกว่า 1 งวดอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันจำนวนสลากที่อยู่ในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าฯ นั้น มีจำนวนเพียงพอกับผู้มีสิทธิ์ทำรายการได้อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง