รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ขณะนี้กระทรวงพยายามเร่งรัดโครงการฯดังกล่าว ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ราว 9 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาประมาณ 7 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 28,759 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 604 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน รวมทั้งอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับจากกรมการปกครองในการพิจารณาความถูกต้องของพื้นที่ที่จะเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565
ทั้งนี้หากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเริ่มดำเนินการประกาศประกวดราคาเพื่อหาผู้รับจ้าง ภายในต้นปี 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการเวนคืนที่ดินของโครงการฯช่วงขอนแก่น-หนองคาย นั้นจะเป็นการเวนคืนที่ดินในบริเวณเขตทางเดิม รวมทั้งจะดำเนินการเวนคืนที่ดินบริเวณทางโค้งใกล้เขตทางเดิม ขณะเดียวกันผู้รับจ้างสามารถดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกันได้โดยไม่ต้องรอเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ ซึ่งจะต้องรอออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนก่อน
สำหรับรูปแบบโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ ทั้งหมด 15 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีหนองตะไก้ 2.สถานีนาทา 3.สถานีเขาสวนกวาง ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนผลักดันรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 6 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ ทั้งหมด 35 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ได้แก่ 1.ที่หยุดรถบ้านตะโก 2.สถานีบุฤาษี 3.สถานีหนองแวง 4.สถานีบุ่งหวาย ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2. ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 39 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีบางกะทุ่ม 2.สถานีวังกะพี้ 3.สถานีศิลาอาสน์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ ทั้งหมด 22 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง คือ สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
4. ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.73 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 65 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีชุมทางทุ่งสง 2.สถานีบางกล่ำ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
5. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.) โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 17 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่งได้แก่ 1.สถานีห้างฉัตร 2.สถานีสารภี ความเร็วในการให้บริการ 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
6. ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.66 พันล้านบาท ขณะนี้รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบแล้ว โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ ทั้งหมด 3 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง คือ สถานีปาดังเบซาร์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง