กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา สำรวจและออกแบบทางต่างระดับ ทางหลวงหมายเลข 216 กับทางหลวงหมายเลข 2423 (ทางเข้าสนามบินอุดรธานี) โดยได้จัดประชุมครั้งที่ 2 เมื่อ 26 ก.ย. 2565 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม เปิดฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่โครงการ ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เวทีประชุมประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว เสนอให้กรมทางหลวงเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ โดยใช้รูปแบบที่ 1 จากจำนวน 3 รูปแบบ และขอให้ออกแบบโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ให้เกิดความเหมาะสม แก้ไขจุดเชื่อมต่อที่มีปัญหา เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีโรงเรียน เป็นทางเข้าสนามบินอุดรธานี ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวงมีหนังสือลงวันที่ 11 ต.ค.2565 รายงานความคืบหน้าโครงการสำรวจและออกแบบทางต่างระดับ ทางหลวงหมายเลข 216 กับทางหลวงหมายเลข 2423 (ทางเข้าสนามบินอุดรธานี) สรุปว่า หากเป็นไปตามแผน โครงการจะใช้เงินงบประมาณปี 2568 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในช่วงปี 2570-2571
โดยโครงการมีแนวคิดที่จะออกแบบสะพานลอย และทางม้าลายบริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาล 11 หนองหิน รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ข้อจำกัดต่าง ๆ และลักษณะกายภาพของพื้นที่ สำหรับการออกแบบอีกครั้ง โดยเน้นด้านความปลอดภัยเป็นหลัก
ส่วนแนวทางการออกแบบจะใช้รูปแบบจำลองที่ 1 จากที่มีการออกแบบเอาไว้ 3 แบบ เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตเมืองอุดรธานีด้านทิศตะวันตก ที่เป็นเส้นทางโครงข่ายการเดินทาง โลจิสติกส์สู่ภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน ตามโรดแมปของรัฐบาลให้เชื่อมโยงตะวันตก-ตะวันออก และรองรับความเติบโตของสนามบินอุดรธานี ที่มีแผนการขยายศักยภาพให้สามารถรองรับผู้เดินทางทางอากาศ เพิ่มจากเดิมเป็นได้ปีละ 7.3 ล้านคนในอนาคต
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน ทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 216 กับทางหลวงหมายเลข 2423 (ทางเข้าสนามบินอุดุดรธานี) เป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร มีปัญหาปริมาณการจราจรหนาแน่นเป็นจำนวนมาก มีอุบัติเหตุเกิดบ่อยครั้ง เนื่องจากภูมิทัศน์ในบริเวณทางแยกเป็นทางโค้ง ประกอบกับปัจจุบันมีผู้ใช้เดินทางผ่านทางแยกดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพื่อเดินทางเข้า-ออกสนามบินอุดรธานี ผ่านไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในด้านทิศตะวันตก และสู่ภาคเหนือมากขึ้น